ประวัติของนิกาย
นิกายนี้ ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า เซี้ยงจง แต่เนื่องด้วยคนไทยเราทราบชื่อนิกายนี้ตามภาษาญี่ปุ่นมาว่า นิกายเซน ซึ่งเป็นมูลศัพท์เดียวกัน จึงเรียกตามญี่ปุ่นด้วย พุทธาศาสนิกชนสังกัดนิกายนี้กล่าวว่า หลักธรรมแห่งนิกายนี้ มีสมุฏฐานโดยตรงมาจากภาวะความตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้งของพระพุทธองค์ภายใต้ต้นโพธิพฤกษ์ ต่อมาในปี ๔๙ แห่งการภายหลังแต่ตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้ชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งท่ามกลางพุทธบริษัทแทนคำเทศนาอันยืดยาว แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเข้าใจในความหมาย นอกจากพระมหากัสสปะผู้เดียวซึ่งยิ้มน้อยๆ อยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนกัสสปะ ตถาคตมีธรรมจักษุครรภ์อันถูกตรงและนิพพานจิต ลักษณะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะเธอพึงรักษาไว้ด้วยดี พระพุทธวจนะนี้เป็นบ่อเกิดของนิกายเซน และพระมหากัสสปะก็ได้เป็นปฐมาจารย์ของนิกายด้วยกล่าวกันว่า ในอินเดียมีคณาจารย์ของนิกายเซนซึ่งสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย โดยการมอบหมายตำแหน่งให้กันถึง ๒๘ รูป จนถึงพระโพธิธรรมเป็นองค์ที่ ๒๘ พระโพธิธรรม (พู่ที้ตับม๊อ) ท่านได้จาริกมาสู่ประเทศจีนในราวกลางพุทธสตวรรษที่ ๑๐ ได้เข้ามาพบสนทนาธรรมกับพระเจ้าเหลียงบูเต้ แห่งราชวงศ์เหลียง แต่ทัศนะไม่ตรงกัน พระโพธิธรรมจึงได้ไปพำนักที่วัดเซียวลิ่มยี่ ณ ภูเขาซงซัว นั่งสมาธิผินหน้าเข้าฝาอยู่ถึง ๙ ปี และได้มอบหมายธรรมให้แก่ฮุ้ยค้อสำเร็จเป็นนิกายเซนขึ้น โดยที่ท่านเป็นปฐมาจารย์ของนิกายนี้ในประเทศจีน คณาจารย์ฮุ้ยค้อเป็นทุติยาจารย์ ฮุ้ยค้อได้มอบธรรมให้แก่เจ็งชั้น เจ็งชั้นให้แก่เต้าสิ่งถึงคณาจารย์เต้าสิ่งซึ่งนับเป็บองค์ที่ ๔ นิกายเซนแบ่งออกเป็น ๒ สำนัก คือ สำนักของคณาจารย์ฮ่งยิ่ม เรียกว่า สำนักอึ้งบ้วย ซึ่งถือกันว่าเป็นสำนักที่สืบเนื่องมาโดยตรง และสำนักของคณาจารย์ฮวบย้ง เรียกว่า สำนักงู่เท้า ซึ่งเป็นสำนักแฝงเท่านั้น คณาจารย์ฮ่งยิ่มสำนักอึ้งบ้วยเป็นปัญจมาจารย์ของนิกายเซน ต่อมานิกายเซนแห่งจีนก็เกิดแตกออกเป็น ๒ สำนักเหมือนกัน สำนักแรกถือกันว่าเป็นสำนักสืบเนื่องมาจากฮ่งยิ่มโดยตรง ผู้เป็นคณาจารย์ชื่อ ฮุ้ยเล้ง สำนักนี้อยู่ทางใต้ของจีน แพร่หลายไปทั่วจีนใต้ อีกสำนักหนึ่งผู้เป็นคณาจารย์ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับท่านฮุ้ยเล้งเหมือนกันชื่อ สิ่งซิ่ว ตั้งตั้งสำนักอยู่ที่จีนเหนือ มูลเหตุแห่งการแยกนั้น เราดูจากโศลกคาถาของท่านทั้ง ๒ รูปก็จะเห็นชัด คราวหนึ่งคณาจารย์ฮ่งยิ่มประกาศว่าจะมอบหมายตำแหน่งให้แก่ศิษย์ แล้วให้ศิษย์ทั้งหลายไปเขียนโศลกคาถาตามปัญญาของตนมาให้ดู เพื่อจะสอบว่าความรู้ของผู้ใดจะสูง
ท่านสิ่งซิ่วเขียนโศลกว่าดังนี้
ซินยู่พู่ที่ซิ่ว กายนี้อุปมาเหมือนต้นโพธิ์
ซิมยู่เม่งเกี้ยไท้ ใจนี้อุปมาเหมือนกระจกเงา
ซีซีขึ่งฮุกซิก จงหมั่นขัดหมั่นปัดเสมอ
ไม่ไซเยี่ยติ้นอาย อย่าให้ฝุ่นละอองจับคลุมได้
ส่วนโศลกของท่านฮุยเล้ง (ตามประวัติว่าท่านไม่รู้หนังสือขอร้องให้คนอื่นเขียนตามคำบอกของท่าน)
พู่ที่ปุ้งฮุยซิ่ว ต้นโพธิ์นี้เดิมมิใช่เป็นต้นโพธิ์
เม่งเกี่ยเอี่ยฮุยไท้ กระจกเงาเดิมก็มิใช่กระจก
ปุ้งไล้ม่อเจ๊กม้วย แต่เดิมไม่มีอะไรสักอย่าง
ฮ่อชู่เยียติ้งอาย แล้วจะถูกฝุ่นละอองจับคลุมที่ตรงไหน
ความในโศลกของท่านฮุ้ยเล้งลึกซึ่งกว่า จึงได้รับตำแหน่ง อนึ่ง ด้วยทัศนะของคณาจารย์ทั้ง ๒ ต่างกันเช่นนี้ วิธีปฏิบัติจึงพลอยต่างกัน สำนักเหนือมีวิธีปฏิบัติเป็นไปโดยลำดับ ส่วนสำนักใต้ปฏิบัติอย่างฉับพลัน เรียกว่า น้ำตุ้งปักเจี๋ยม แปลว่า ใต้เร็ว เหนือลำดับ
อนึ่ง ต่อมาสำนักนี้ได้แตกแยกออกเป็นแขนงอีกหลายแขนง ที่สำคัญมี ๕ คือ สำนักนิ่มชี้ เช่าตั้ง อุ้ยเอี้ยง และสำนักฮวบงั้ง ๕ สำนักนี้ สำนักนิ่มชี้แพร่หลายที่สุด จนถึงในยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้
คัมภีร์ที่สำคัญ
ความจริงนิกายเซนถือว่าเป็นคำสอนพิเศษ เผยแผ่ด้วยวิธีใจสู่ใจ ไม่อาศัยตัวหนังสือหรือการอธิบาย แต่เนื่องด้วยอินทรีย์ของสัตว์มีสูงต่ำ นิกายนี้จึงจำต้องอาศัยหนังสือ และคำพูดมาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นเพียงอุบายวิธีเท่านั้น ฉะนั้น คัมภีร์ของนิกายนี้จึงมีมากไม่แพ้นิกายอื่น คัมภีร์ที่เป็นหลัก คือ
๑. ลังกาวตารสูตร (เลงแคเก็ง) คุณภัทระแปล และฉบับแปลของโพธิรุจิ ศิกษานันทะอีก ๒ ฉบับ
๒. วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (กิมกังปัวเยียกปอล่อมิกเก็ง) กุมารชีพแปล
๓. วิมลกีรตินิทเทศสูตร (ยุยม่อเคียกซ่อส้วยเก็ง) กุมารชีพแปล
๔. มหาไพบูลยสมันตโพธิสูตร (ไต้ฮวงก้วงอี้กักเก็ง) พุทธตาระแปล
๕. ศูรางคมสมาธิสูตร (ซิงเล่งเงี้ยมซาม่วยเก็ง) สูตรนี้สงสัยกันว่าชาวจีนแต่งขึ้นเอง ในพระไตรปิฎกจีนมีอีกสูตรหนึ่งชื่อเหมือนกัน แต่ไม่พิสดารดังสูตรนี้
๖. ลักโจ๊วไต้ซือฮวบป้อตั้วเก็ง ซึ่งเป็นปกรณ์สำคัญที่สุด กล่าวถึงประวัติของคณาจารย์ฮุ้ยเลง และภาษิตของท่าน
๗. ซิ่งซิมเม้ง (จารึกสัทธาแห่งจิต) ของคณาจารย์เจงชั้ง
๘. จวยเสี่ยงเสงหลุง (อนุตตรยานศาสตร์) ของคณาจารย์ฮ่งยิ่ม
๙. จงเกี้ยลก (บันทึกกระจกแห่งนิกาย) รวบรวมโดยเอี่ยงซิว
๑๐. ม่อมึ่งกวง (ด่านที่ไม่มีประตู) ของจงเสียว
๑๑. นั้งเทียนงั่งมัก (จักษุแห่งเทพยดาแลมนุษย์) ของตี้เจียว
๑๒. ตุ้งหงอยิบเต๋าฮวบมึ้ง (ประตุวิถีแห่งการเข้าถึงธรรมอย่างฉับพลัน) เป็นหนังสือถามตอบอย่างง่ายแก่การเข้าใจ นอกจากนี้ ยังมีบรรดาอาจริยภาษิตของคณาจารย์ต่างๆ แห่งนิกายเซนอีกมาก
หลักธรรม
นิกายนี้ถือว่าสัจภาวะ ย่อมอยู่เหนือการพูด การคิด เราจะค้นสัจธรรมในหนังสือพระไตรปิฎกย่อมไม่พบ นอกจากเราจะต้องหันมาบำเพ็ญดูจิตใจของตนเอง เพราะความจริงเราจะหาได้ภายในตัวเรานี้เอง จะไปค้นหาภายนอกไม่ได้ นิกายนี้จึงว่า ปุกลิบบุ้นยี่ แปลว่า ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือเป็นรากฐานหรอก ติกจี้นั้งซิม แปลว่า แต่ชี้ตรงไปยังใจของคน นิกายนี้มีปรัชญาว่า
สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมีอมตจิตเป็นมูลการณะ สิ่งทั้งหลายเป็นปรากฎการณ์ของอมตภาวะนี้เท่านั้น อมตภาวะนี้มีอยู่ทั่วไปในสรรพชีวะทั้งหลาย อมตภาวะนี้แผ่ครอบคลุมทั่วทุกหนแห่งไม่มีขีดจำกัด และสรรพสิ่งจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเรียกว่าชีวิตเป็นหนึ่ง คือ มีมูลภาวะอันเดียวกัน อมตภาวะนี้ก็คือ จิตของเรานั้นเอง แต่เป็นแก่นอันแท้จริงของจิตของเราจิตนั้นไม่เกิดดับ ที่เกิดดับเป็นเพียงปรากฎการณ์ซึ่งเป็นมายาหาใช่ภาวะจิตที่แท้จริงไม่ ลักษณะของจิตนี้เป็นอย่างไร ดังคำอธิบายของท่านอาจารย์เซนองค์หนึ่งของญี่ปุนว่า มหึมาจริงหนอ เจ้าจิต ฟ้าที่สูงไม่อาจประมาณถึงสุดได้แล้ว แต่จิตก็อยู่พ้นฟ้านั้นขึ้นไปอีก แผ่นดินที่หนาไม่อาจวัดได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแผ่นดินนั้นลงไป แสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ไม่อาจข้ามได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นไปอีก โลกธาตุทั้งปวงอันมีปริมาณดุจเม็ดทรายไม่มีที่สิ้นสุด แต่จิตก็อยู่นอกเหนือจักรวาลทั้งหลายนั้นไปอีก จะว่าเป็นอวกาศหรือจะเป็นภาวะธาตุหรือจิตนี้ครอบงำอวกาศทรงไว้ซึ่งภาวะธาตุเดิม อาศัยตัวของเรา ฟ้าจึงครอบจักรวาลแลดินจึงรองรับ (จักรวาล) อาศัยตัวเรา ดวงอาทิตย์แลดวงจันทร์จึงหมุนเวียนไป อาศัยตัวเรา ฤดูทั้ง ๔ จึงมีการเปลี่ยนแปลง และอาสัยตัวเรา สรพสิ่งจึงอุบัติขึ้น มหึมาจริงนะ เจ้าจิตนี่ข้าจำเป็นต้องให้นามบัญญัติเจ้าละว่า เอกปรมัตถสัจจะ หรือปรัชญาสัจลักษณ์ หรือเอกสัตยธรรมธาตุ หรืออนุตตรสัมโพธิ หรือศูรางคมสมาธิ หรือสัมมาธรรมจักษุครรภ์ หรือนิพพานจิต
นิกายเซนถือว่าพระพุทธองค์กับสรรพสัตว์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะจิตธาตุอันนี้ ดังภาษิตของคณาจารย์เซนอึ้งเพก กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายกับสรรพสัตว์ ต่างมีจิตเดียวกัน ไม่มีสิ่งอะไรต่างหาก จิตนี้นับตั้งแต่กาลเบื้องต้นอันไม่ปรากฏ ก็ไม่เคยเกิด ไม่เคยดับ ไม่เป็นสีเขียวสีเหลือง ไม่มีรูป ไม่มีลักษณะ ไม่อยู่ในวงว่ามีหรือไม่มี ไม่เป็นของใหม่หรือของเก่า ไม่ยาวไม่สั้น ไม่ใหญ่ไม่เล็ก อยู่พ้นการประมาณวัดทุกอย่าง พ้นชื่อเสียงเรียงนาม พ้นร่องรอย และความเป็นคู่ คือ สภาพในเดี๋ยวนี้ ถ้าเกิดมีอารมณ์หวั่นไหวขึ้นก็ต้องไป (น้ำทะเลเกิดคลื่น) จิตนี้เหมือนอากาศ ไม่มีขอบเขต ไม่อาจวัดได้ จิตดวงเดียวนี้แหละ คือ พุทธะ
ซาเซน
พุทธภาวะที่ไม่เกิดแก่เจ็บตายอันมีอยู่ทั่วไป และมีอยู่แก่สรรพสัตว์ทั้งสิ้น และเป็นภาวะบริสุทธิ์มาแต่ดั้งเดิม แต่ปุถุชนถูกอวิชชากำบัง เข้าใจว่าตนนั้นเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นความหลงผิดนั้น ต้องกำจัดอวิชชานี้ออกไปเสีย ด้วยวิธีทำซาเซน ซึ่งภาษาจีนว่า ชัมเซี้ยง คือ ทำฌานให้เกิด นิกายเซนกล่าวว่า ปัญญากับฌานจะแยกกันมิได้ ฌานที่ไร้ปัญญาก็มิใช่ฌานชนิดโลกุตตระ นิกายเซนมีวิธี เรียกว่า ชัมกงอั่ว หรือภาษาญี่ปุ่นว่า โกอาน ซึ่งแปลกันอย่างเอาความหมายก็คือ การขบปริศนาธรรม อาจารย์เซนจะมอบปริศนาธรรม เช่นว่า สุนัขมีพุทธภาวะหรือไม่หน้าตาดั้งเดิมของเจ้าก่อนพ่อแม่ให้กำเนิดคืออย่างไร สิ่งทั้งปวงรวมเป็นหนึ่งแล้ว หนึ่งจะรวมในที่ใด ผู้ใดเป็นผู้สวดมนต์ภาวนาอยู่นี้ ศิษย์จะนำไปคิดจนกระทั่งขบแตก ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกแห่งปัญญาที่จะนำตนให้พ้นวัฏสงสารที่เดียว ภูมิธรรม การบรรลุธรรมของนิกายเซนแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ
๑. ระยะแรก เรียกว่า ชอกวง หรือปุนชัม ได้แก่ การขบปริศนาธรรมแตก เกิดปัญญาความรู้แจ่มจ้า เห็นภาวะดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสของตนเอง (นี้เทียบด้วยทัสสนมรรค)
๒. ระยะกลาง เรียกว่า เต้งกวง คือ การใช้ปัญญา พละ และในระยะนั้นเอง กำราบสรรพกิเลสให้อยู่นิ่ง เป็นตะกอนน้ำนอนก้นถังอยู่
๓. ระยะหลัง เรียกว่า หมวกเอ้ากวง ตือ การทำลายกิเลสที่เป็นตะกอนนอนก้นนั้นให้หมดสิ้นไม่เหลือเลย
อ้างอิง: เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.
พระจิตติเทพ ฌานวโว เรียบเรียงรายงาน
นาคารชุน
วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
มองความมีให้ไม่มีเป็นที่ตั้ง
ตอบลบแล้วหยุดยั้งสร้างฝันอันยิ่งใหญ่
มองไม่เห็นอัคคีแม้มีไฟ
มีตาไว้เพื่อไม่มี หนีภาพกรรม
จึงควรไม่มีกายในหล้าโลก
พ้นสัมผัสเศร้าโศกวิโยคร่ำ
มองเห็นกายแต่ไม่เห็นจึงเป็นธรรม
พ้นจดจำ พ้นวิมุติ หลุดบ่วงเวร