วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นิกายตรีศาสตร์ หรือซาหลุงจง

ประวัติความเป็นมา
นิกายนี้อาศัยศาสตร์ ๓ ปกรณ์ คือ มาธยมิกศาสตร์ ศตศาสตร์ และทวาทศนิยายศาสตร์ รวมกันเป็นชื่อของนิกาย อาจารย์นาคารชุนเป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายนี้ (บ้างว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) ท่านเป็นผู้ตั้งทฤษฎีศูนยตวาทิน อรรถาธิบายหลักปัจจยาการ และอนัตตาของพระพุทธองค์โดยวิถีใหม่ คัมภีร์ที่ท่านรจนามีจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ มาธยมิกศาสตร์ และมหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ มาธยมิกศาสตร์นอกจากประกาศแนวทฤษฎีศูนยตาแล้ว ยังได้วิพากย์นานามติเชนไว้ด้วย อรรถกถาของศาสตร์นี้มีผู้แต่งกันไว้มาก ฉบับที่แปลสู่พากย์จีนมี ๒ ฉบับ เป็นของนีลเนตร และของภาววิเวก ส่วนคัมภีร์ศตศาสตร์นั้นเป็นของอาจารย์เทวะ เป็นหนังสือวิพากย์ปรัชญาฮินดูทั้งเวทานตะ สางขยะ ไวเศษิกนะ นยายะ โยคะ และเชน ไว้อย่างถึงพริกถึงขิง เผยให้เห็นความเป็นเลิศเด่นของพระพุทธ คัมภีร์ที่ ๓ นั้นเป็นของอาจารย์นาคารชุนจัดเป็นหนังสือเบื้องต้นสำหรับศึกษาปรัชญาศูนยตวาทิน เนื่องด้วยอาจารย์นาคารชุนได้ยกและกอบกู้ฐานะของพุทธศาสนาให้รุ่งโรจน์ ประกอบทั้งความเป็นบรมปราชญ์ปราดเปรื่องของท่าน พุทธศาสนิกชนมหายานทุกๆ นิกายยกย่องท่านในฐานะคุรุผู้ยิ่งใหญ่เสมอ ปรัชญาศูนยตวาทินได้แผ่เข้าไปในประเทศจีนโดยกุมารชีพ กล่าวกันว่า กุมารชีพเป็นศิษย์ร่ำเรียนปรัชญานี้ กับเจ้าชายสูรยโสมะแห่งยารกานต์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาถ่ายทอดจากนีลเนตร ศิษย์ของราหุละ และราหุละได้ศึกษาโดยตรงจากอาจารย์เทวะทีเดียว กุมารชีพแปลปกรณ์ ๓ ที่นครเชียงอานและบรรดาสานุศิษย์รูปเอกๆ ของกุมารชีพหลายรูปได้เทศนาสั่งสอนปรัชญานี้ให้แพร่หลาย ตกถึงแผ่นดินซุ้ยมีคันถรจนาจารย์ผู้หนึ่งชื่อกิกจั๋ง ได้แต่งอรรถกถาศาสตร์ทั้ง ๓ เป็นภาษาจีน ทำให้นิกายนี้เจริญถึงขีดสูงสุด ครั้นเข้ายุคราชวงศ์ถังเมื่อท่านติปิฏกธราจารย์เฮี่ยงจังประกาศปรัชญาวิชญาณวาทินอยู่ เลยทำให้รัศมีฝ่ายศูนยตวาทินอับลงตราบเท่าทุกวันนี้
คัมภีร์ที่สำคัญ
๑. มาธยมิกศาสตร์ (ตงหลุง) ของพระนาคารชุน
๒. ทวาทศนิกายศาสตร์ (จับยี่มึ่งหลุง) ของพระนาคารชุน
๓. ศตศาสตร์ (แปะหลุง) ของพระอารยเทวะ
๔. มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ (ไต้ตี้โต่หลุง) ของพระนาคารชุน ทั้ง ๔ ศาสตร์นี้ กุมารชีพแปล
๕. กรตลรัตนศาสตร์ (เจียงเตียงหลุง) ของภาววิเวก
๖. อรรถกถาแห่งศาสตร์ทั้ง ๓ ของคันถรจนาจารย์กิกจั๋ง
๗. พระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตา มีมหาปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น
หลักธรรม
อาจารย์นาคารชุนได้ประกาศทฤษฎีศูนยตวาทินด้วยอาศัยหลักปัจจยาการ และอนัตตาของพระพุทธองค์เป็นปทัฏฐาน ท่านกล่าวว่า สังขตธรรม อสังขตธรรม มีสภาพเท่ากัน คือ สูญ (สรฺวมฺ ศูนฺยมฺ) ไม่มีอะไรที่มีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวของมันเองได้อย่างปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แม้กระทั้งพระนิวราณ เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่สังขตธรรมเป็นมายาไร้แก่นสารเลย พระนิรวาณก็เป็นมายาด้วย สิ่งที่อาจารย์นาคารชุนคัดค้านปฏิเสธก็คือ สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวมันเอง ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอยู่โดยสมมติหรือปรมัตถ์ ก็สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวของมันเองอยู่นั้น กินความหมายกว้าง รวมทั้งอาตมันหรืออัตตาอยู่ด้วย แต่เรื่องอาตมัน พระพุทธศาสนาทุกนิกาย (ยกเว้นพวกนิกายวัชชีบุตรและพวกจิตสากล) ก็ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ไม่ยอมให้มีเหลือเศษอะไรอยู่แล้ว แต่ตามทัศนะของอาจารย์นาคารชุน ท่านคณาจารย์เหล่านั้นถึงแม้ปฏิเสธความมีอยู่ด้วยตัวมันเองเพียงแต่อาตมันเท่านั้น แท้จริงยังไปเกิดอุปทานยึดสิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวมันเองในขันธ์ ธาตุ อายตนะ พระนิรวาณว่ามีอยู่ด้วยตัวของตัวเองอีก เห็นว่ามีกิเลสที่จะต้องละ และมีพระนิรวาณที่จะบรรลุ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด นาคารชุนกล่าวว่า สิ่งที่เราเข้าใจว่ามันเป็นจุดสิ่งสุดท้ายที่มีอยู่ได้ด้วยตัวมันเองนั้น แท้จริงก็เกิดจากปัจจัยอื่นอีกมากหลายปรุงแต่งขึ้น เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่มีภาวะอันใดแน่นอนของตัวเองเช่นนี้ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นดุจมายา สิ่งใดเป็นมายา สิ่งนั้นก็ไร้ความจริง จึงจัดว่าสูญ นาคารชุน อธิบายว่า สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง ย่อมบ่งถึงความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น จะเปลี่ยนแปลงมีได้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นการขัดต่อกฎปัจจยาการของพระพุทธศาสนา เพราะตามกฎแห่งเหตุปัจจัย สิ่งทั้งปวงย่อมต่างอาศัยเหตุปัจจัยจึงมีขึ้นเป็นขึ้น มิได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอยู่โดยโดดเดียว ดังนั้นถ้าถือว่ามีสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเองโดดเดี่ยวเช่นนี้ ย่อมจัดเข้าเป็นฝ่ายสัสสตทิฏฐิไป อนึ่ง ถ้ามีความเห็นว่าทั้งปวงขาดสูญปฏิเสธต่อบาปบุญคุณโทษเล่า ก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ หลักธรรมฝ่ายศูนยตวาทินจึงไม่เป็นทั้งฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ก็เพราะแสดงถึงแก่นความจริงว่า สรฺวมฺ ศูนฺยมฺ ด้วยความที่ไร้ภาวะที่โดดเดี่ยวโดยตัวมันเอง และไม่เป็นทั้งอุจเฉททิฏฐิหรือนัตถิกทิฏฐิ ก็เพราะแสดงว่า สิ่งทั้งปวงอาศัยเหตุปัจจัย เป็นดุจมายามีอยู่โดยสมมติบัติญัติ ด้วยประการฉะนี้
อย่างไรก็ดี แม้ปรัชญาของมาธยมิกจะเป็นหลักศูนยตาเช่นนี้ และศูนยตาตามทัศนะของมาธยมิก มิใช่ชนิดที่ทอนสิ่งหยาบไปหาสิ่งย่อยๆ เช่น ทอนจากอาตมันเป็นขันธ์ ๕ ทอน จากขันธ์ ๕ เป็นธาตุ ทอนจากธาตุเป็น ฯลฯ เช่น นิกายอื่นๆ ศูนยตาของมาธมิก หมายถึง ความเป็นมายาทั้งสังขตะอสังขตะไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวยืนให้สมมติบัญญัติเลย แต่เมื่อปรัชญามาธยมิกแพร่เข้าสู่ประเทศจีน คณาจารย์จีนซึ่งมีความนิยมภูตตถตาวาทิน ตลอดจนเก่งกาจในทางสมานความคิดระหว่างศูนยตวาทินกับอัสติวาทิน ก็แปลความหมายของอาจารย์นาคารชุนเสียว่า ที่มาธยมิกกล่าวว่า ทุกสิ่งเป็นศูนยตานั้นก็เพื่อจะให้เรารู้จักสภาวะที่ไม่สูญ คือ ภูตตถตาอันอยู่นอกเหนือสมมติบัญญัติ และเพื่อให้เราละยึดถือเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่มิรู้แตกดับหักสูญต่างหาก ซึ่งคล้ายกับมติของพระอาจารย์บางท่านในประเทศไทยว่า พระพุทธองค์สอนอนัตตาก็เพื่อให้เราค้นพบอัตตาที่แท้จริง ซึ่งกลายเป็นตกสู่ความเป็นคู่ คือ อัตถิตา นัตถิตาไป พระนิวารณถ้ากล่าวตามคลองบัญญัติแล้วฝ่ายมาธยมิกว่า พ้นจากภาวะและอภาวะนั่นแหละ คือ พระนิรวาณ

อ้างอิง: เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ: มหากุฏราช
วิทยาลัย,๒๕๔๘.
พระจิตติเทพ ฌานวโร เรียบเรียงรายงาน ๐๙.๓๖ น. ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓.

นาคารชุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติความเป็นมา หลักธรรม และคัมภีร์ที่สำคัญ นิกายมหายานมีพระธรรมไม่ครบ ๓ ปิฎก คือ ขาดวินัยปิฎกไป ถึงแม้ฝ่ายมหายานจะกล่าวว่า มีวินัยของพระโพธิสัตว์อยู่ก็ตาม