วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัชรยานหรือตันตรยาน

ปัจจุบันพระพุทธศาสนามีนิกายที่สำคัญอยู่สามนิกายคือเถรวาท มหายาน และวัชรยานหรือตันตรยาน ในส่วนของนิกายเถรวาทและมหายาน พุทธศาสนิกชนส่วนมากมักจะรับรู้และมีความเข้าใจกันพอสมควร ประเทศไทยก็ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนามาหลายครั้ง แต่อีกนิกายหนึ่งอยู่กึ่งๆระหว่างเถรวาทและมหายาน แต่มีข้อปฏิบัติที่แยกออกไปอีกอย่างหนึ่ง ที่มีคนรู้จักมากที่สุดคือพระพุทธศาสนานิกายตันตรยานแต่มักชอบเรียกตัวเองว่าวัชรยาน
ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะหายไปจากอินเดียประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 นั้น เท่าที่ปรากฏในเอกสารต่างๆระบุตรงกันว่า เพราพระพุทธศาสนาได้รับเอาการปฏิบัติแบบตันตระจากฮินดูเข้ามา จนเกิดความเสื่อมทางศีลธรรม จนกระทั่งกองทัพมุสลิมบุกเข้าเผาทำลายศาสนสถานของพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระภิกษุผู้นิยมในลัทธิตันตระ พากันนั่งสาธยายมนต์ โดยไม่คิดจะต่อสู้กับมุสลิม ส่วนมากจึงถูกฆ่าตาย ส่วนผู้ที่ได้ฌานสมาบัติจริงก็เหาะหนีไปยังประเทศอื่นเมืองอื่น
ในส่วนของศาสนิกชนถ้าใครต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ก็ต้องเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามหรือไม่ก็ทำเฉยเสียโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา ถ้าวิเคราะห์ตามนี้ก็จะเห็นได้ว่าทั้งฮินดูและพุทธถูกทำลายลงพร้อมกัน แต่ทำไมฮินดูจนยังคงมีอิทธิพลต่อชาวอินเดียอยู่ในปัจจุบันควบคู่ไปกับมุสลิม แต่พระพุทธศาสนาที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับต้องมาเจริญในต่างแดนเช่นไทย พม่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต ในแต่ละประเทศก็ได้พัฒนาพุทธศาสนาผสมกับความเชื่อดั้งเดิมของตน จนกลายเป็นพระพุทธศาสนาในลักษณะที่มีต้นกำเนิดจากที่เดียวกัน แต่มีคำสอนและพิธีกรรมไม่เหมือนกัน
พระพุทธศาสนาแบบตันตระยานหรือวัชรยานหรือมันตรยาน เกิดขึ้นในอินเดียประมาณศตวรรษที่ 7 โดยได้ดัดแปลงเอาลัทธิฮินดูตันตระเพื่อเอาใจชาวฮินดู และได้นำเอาพิธีกรรมทางอาถรรพเวทเพื่อต่อสู้กับศาสนาฮินดู พุทธศาสนาแบบตันตระมีสาขาใหญ่ 2 สาขา เรียกว่าสาขามือขวากับ มือซ้าย นิกายมือขวาเคารพบูชาเทพฝ่ายชาย ส่วนนิกายมือซ้ายนิยมเรียกว่าวัชรยาน ถือเอาศักติหรือชายาของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก และทุ่มเทความสนใจหนักไปที่นางตารา หรือพระนางผู้ช่วยให้พ้นทุกข์
พิธีกรรมที่สำคัญของตันตรยานคือการสาธยายมนตร์ที่ลึกลับต่างๆ และมีการปฏิบัติโยคะท่าทางต่าง ๆ พร้อมด้วยการเจริญสมาธิ จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติเพื่อบรรลุความหลุดพ้น เชื่อกันว่าในทันทีที่มีความชำนาญได้บรรลุฌานชั้นที่ 1แล้ว กฏความประพฤติด้านศีลธรรมปกติธรรมดาก็ไม่จำเป็นสำหรับผู้นั้นตลอดไป และเชื่อว่าการฝ่าฝืนโดยเจตนา ถ้าหากทำด้วยความเคารพแล้ว ก็จะทำให้เขาบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป ดังนั้นจึงมักผ่อนผันในเรื่องการเมาสุรา การรับประทานเนื้อสัตว์ และการสับสนในทางประเวณี (จำนงค์ ทองประเสริฐ 2540:197)
เมื่อบรรลุฌานขั้นที่ 1 กฎแห่งความประพฤติก็ไม่จำเป็น นี่กระมังที่ทำให้ใครๆก็อ้างว่าตนเองบรรลุฌารนขั้นที่ 1 เพื่อที่ตนเองจะได้ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ นักบวชตันตระบางคนจึงเมาสุรา เสพเมถุนกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้บรรลุศักติ นั่นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อทำความชั่ว โดยอ้างหลักการบนพื้นฐานของความดี คนที่ทำชั่วในคราบของนักบุญ นับเป็นคนบาปที่ไม่ควรให้อภัย
พุทธศาสนานิกายตันตระ ถูกนำมารวมเข้าไว้ในการปฏิบัติพิธีรีตองที่เป็นความลับ ครูอาจารย์ในนิกายนี้มักจะเขียนหนังสือที่มีปรัชญาลึกซึ้ง เพราะตันตรยานมีความลึกลับ และมีวิธีการที่พิสดารที่เอง จึงมีผู้ให้คำอธิบายไว้ว่า “ตันตรยาน บางครั้งเรียกว่าลัทธิคุยหยาน ซึ่งแปลว่าลัทธิลับ เป็นนิกายที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่านิกายพุทธศาสนาอื่น ๆ ที่รับเอาพิธีกรรมและอาถรรพเวทของพราหมณ์ เข้ามาสั่งสอนด้วย แต่แก้ไขให้เป็นของพุทธศาสนาเสีย เช่น แทนที่จะบูชาพระอิศวรก็บูชาพระพุทธเจ้าแทน เกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 (เสถียร โพธินันทะ 2541:172)
เมื่อชาวพุทธรับเอาลัทธิตันตระจากฮินโมาปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับฮินดู พระสงฆ์มักจะเน้นที่พิธีกรรมที่แปลกๆและพิสดาร ยิ่งมีความลึกลับเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนเลื่อมใสมากขึ้น และนั่นทำให้เกิดลาภสักการะ พระสงฆ์จึงละทิ้งการปฏิบัติทางจิต หันไปเน้นการประกอบพิธีกรรมที่ลึกลับ ผู้คนก็ชอบใจเพราะไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่เข้าร่วมพิธีก็สามารถเข้าถึงพุทธภาวะได้ ตันตระเจริญมากเท่าไร ศีลธรรมก็ยิ่งเสื่อมลงมากเท่านั้น “เพราะอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของลัทธิตันตริกหรือวัชรยานนี้ ประชาชนอินเดียในสมัยนั้นต่างหมดความเคารพในศีลธรรม แต่กลับนิยมชมชื่นในความวิปริตนานาชนิด” (กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย 2537:437)
คัมภีร์ตันตระในลัทธิฮินดูสอนว่า “มนุษย์มีความไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นกฏพิธีจึงต้องกระทำต่าง ๆ กันตามสภาพของมนุษย์ มนุษย์มีลักษณะ 3 ประการ คือ ปศุ (สัตว์) วีระ (กล้าหาญ) และทิพยภาวะ ลักษณะ 3 ประการนี้ มักจะหมายถึงวัยของมนุษย์คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย และสอนว่า ถ้าจะข่มราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดไป ก็อาศัยราคะ โทสะ โมหะ นั้นเองเป็นเครื่องบำราบ (หนามยอกเอาหนามบ่ง) คือต้องกินอาหาร ต้องดื่มน้ำเมา ต้องเสพเมถุน เป็นต้นแต่ละอย่างให้เต็มที่ สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นเครื่องดับมันเอง” (เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป 2537:109)
พระพุทธศาสนาแบบตันตระเน้นในเรื่องเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรม การสาธยายมนตร์ และมีคำสอบที่เป็นรหัสนัยอันลึกลับ จนทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย ดังที่เสถียรโพธินันทะแสดงความเห็นไว้ว่า “ลัทธิมันตรยาน ถ้าจะเทียบด้วยเปอร์เซ็นต์แล้ว ก็มีความเป็นพระพุทธศาสนาเหลือสัก 10 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นรับเอาลัทธิฮินดูตันตระมาดัดแปลง ความประสงค์เดิมก็เพียงเพื่อเอาใจชาวฮินดู จึงได้นำลัทธิพิธีกรรมทางอาถรรพเวทมาไว้มาก และได้ผลเพียงชั่วแล่น แต่ผลเสียก็เป็นเงาตามทีเดียว คือถูกศาสนาพราหณ์กลืนโดยปริยายนั่นเอง (เสถียร โพธินันทะ2541:198)
การปฏิบัติตันตระในพุทธตันตรยานในพุทธศตวรรษที่ 17 นั้นมีอธิบายไว้ว่า (1)ถือว่าการพร่ำบ่นมนตร์และลงเลขยันต์ซึ่งเรียกว่าธารณีเป็นหนทางรอดพ้นสังสารทุกข์ได้เหมือนกัน การทำจิตให้เพ่งเล็งถึงสีสันวรรณะหรือทำเครื่องหมายต่างๆด้วยนิ้วมือซึ่งเรียกว่ามุทรา จะให้ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ให้ลุทางรอดพ้นได้ ลัทธินี้เรียกสวว่า มนตรยานหรือสหัชญาณ, (2) เกิดมีการนับถือฌานิพุทธและพระโพธิสัตว์อย่างยิ่งยวด มีการจัดลำดับพระพุทธเจ้าเป็นลำดับชั้น ในยุคนี้เกิดมีการนำเอาลัทธิศักติเข้ามาบูชาด้วย จนทำให้พระฌานิพุทธะและพระโพธิสัตว์มีพระชายาขนาบข้าง เหมือนพระอุมาเป็นศักติของพระศิวะ พระลักษมีเป็นศักติของพระวิษณุ ผูเข้าสู่นิพพานคือเข้าอยู่ในองค์นิราตมเทวี ลัทธิอย่างนี้เรียกว่าวัชรยาน ผู้อยู่ในลัทธิเรียกว่าวัชราจาร (3) มีการเซ่นพลีผีสาง โดยถือว่าถ้าอ้อนวอนบูชาจะสำเร็จผลประพสบความสุขได้ และเติมลักษณะพระฌานิพุทธให้มีปางดุร้ายอย่างนางกาลี ซึ่งเป็นเหมือนพระนางอุมาที่ดุร้าย ลัทธินี้เรียกว่ากาลจักร” (เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป 2537:166)
ฟังคำอธิบายของนิกายตันตรยานแล้วก็น่าสงสารพระพุทธศาสนา ที่ถูกนักการศาสนากระทำปู้ยี่ปู้ยำ คิดถึงการที่พระสัมสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงเหนื่อยอย่างแสนสาหัสกว่าที่จะทรงตั้งศาสนจักรขึ้นได้ แต่กลับอยู่ในดินแดนอันเป็นถิ่นกำเนิดได้ไม่ถึง 2,000 ปี
คิดถึงสถานการณ์พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นนิกายเถรวาท แต่มีการพร่ำบ่นสาธยายมนตร์ ลงอักขระเลขยันต์ ปลุกเสกพระเครื่อง คล้ายๆกับตันตระในยุคเริ่มต้น อิทธิพลของตันตรยานแผ่คลุมพุทธอาณาจักรแทบทุกนิกาย เพียงแต่ว่าใครจะรับเอาไว้ได้มากน้อยเท่าใด และแปรสภาพไปสู่ยุคที่สองได้เร็วเท่าใด หากยังรักษาสถานภาพไว้แค่ขั้นที่หนึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เมืองไทยน่าจะรักษาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทไว้ได้อีกนาน แต่ถ้าเริ่มเข้าสู่ยุคที่สองคือนับถือพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นเทพเจ้า นิพพานเป็นอาณาจักร เป็นแดนสุขาวดีที่มีพระสงฆ์บางรูปอ้างว่าสามารถนำภัตตาหารไปถวายพระพุทธเจ้าได้ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง
นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาต่างกล่าวโทษพระพุทธศาสนาแบบตันตระ ว่าเป็นความเสื่อมของพระพุทธศาสนา แต่ที่ทิเบตพระพุทธศาสนาแบบตันตระกลับเป็นเอกลักษณ์พิเศษ เพราะตันตระจึงทำให้มีทิเบต และชาวตะวันตกรู้จักพระพุทธศาสนาแบบตันตระมากว่านิกายอื่น ชาวทิเบตประเทศที่ไร้อิสรภาพ แต่ไม่ไร้ปัญญา พวกเขายังคงมีพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่สุดในประเทศ และที่สำคัญพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ที่ทิเบตก็เพราะตันตระยานนี่เอง
ร่องรอยของพระพุทธศาสนาในอินเดีย อาจกล่าวได้ว่าตันตรยานคือนิกายสุดท้ายที่เหลืออยู่ในอินเดียและสูญหายไปจากอินเดียประมาณศตวรรษที่ 17 แต่พระพุทธศาสนาไปเจริญรุ่งเรืองในประเทศอื่น ทั้งมหายานและเถรวาท
ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานถือว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาอันมหัศจรรย์สามครั้งคือครั้งแรกแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกะปปวัตนสูตร โดยทรงสอนเรื่องอริยสัจจ์ 4 แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนกระทั่งอัญญาโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ครั้งที่ 2แสดงปรัชญาปารมิตาสูตร บนยอดเขาคิชกูฏ นอกกรุงราชคฤห์ เป็นการขยายความของธรรมเทศนาครั้งแรกให้มีความลึกซึ้งและชัดเจนยิ่งขึ้น ครั้งที่ 3 แสดงตถาคตครรภ์สูตร ซึ่งเป็นการสอนเทคนิคและวิธีการที่จะเข้าถึงปรมัตถธรรม ต่อมาท่านนาครชุนได้นำมาอธิบายทัศนะว่าด้วยศูนยตา และต่อมาได้เกิดนิกายตันตระยานขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่จะเข้าถึงพุทธภาวะได้ง่ายกว่าวิธีอื่น
คำว่า "ตันตระ" หมายถึงความสืบเนื่องของจิตหรือวิญญาณ ฝ่ายทิเบตมีความเห็นว่าตันตระเกิดขึ้นในครั้งที่พระพุทธองค์แสดงธรรมจักรครั้งที่ 2 พระองค์ได้ทรงประทานคำสอนตันตระเบื้องต้น ในคัมภีร์ฝ่ายทิเบต พวกลามะต่างยืนยันหนักแน่นว่า “การปฏิบัติตันตระเท่านั้นที่จะเข้าถึงพุทธภาวะได้ โดยรวมเอกภาพให้เกิดขึ้นระหว่างรูปกายและธรรมกาย โดยอ้างว่า “พระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่างว่า อุจจาระนั้นถ่ายอยู่ในเมืองเป็นของสกปรก แต่ถ้าอยู่ในท้องทุ่งนาก็กลายเป็นปุ๋ย พระโพธิสัตว์สามารถใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ฉันใดก็ฉันนั้น” (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ษัฏเสน)2538:102)
ในการการปฏิบัติตามหลักตันตระนั้นมีลำดับขั้นที่แตกต่างกัน ตามความยากง่าย ซึ่งสามารถแบ่งตามลำดับได้ 4 ระดับคือ
1. กิริยาตันตระ ว่าด้วยการกระทำ เป็นตันตระขั้นต้น ซึ่งให้ความสำคัญกับกิริยาท่าทาง ดังนั้นจึฝมีวิธีฝึกที่เรียกว่ามุทรา การที่จะเข้าถึงพุทธภาวะได้บางครั้งก็เพียงแต่ตรึกนึกเห็นภาพขององค์พุทธะจนเกิดเป็นแสงสว่าง การเข้าถึงทางวาจาก็เพียงแต่ได้ยินเสียงกระซิบมนต์เบาๆ หรือท่องสาธยายมนต์จนเกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพุทธภาวะ อุปกรณ์ในการฝึกคือการเพ่งกสิณและฟังเสียงสาธยายมนต์
2. จรรยาตันตระ ว่าด้วยความประพฤติ เน้นที่การฝึกฝนทางกายและการฝึกฝนภายในคือการฝึกจิต การฝึกก็ให้นึกเห็นเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งจนเกิดเป็นนิมิตรประจำตัว ที่นิยมมากที่สุดคือพระไวโรจนะพุทธเจ้า
3. โยคะตันตระ ว่าด้วยโยควิธี เน้นการฝึกจิตภายในมากกว่าการฝึกกิริยาภายนอก มีวิธีการในการฝึกค่อนข้างจะพิเศษโดยการอธิบายถึงอาณาจักรแห่งวัชระและมรรควิธีในการชำระกายให้บริสุทธิ์
4. อนุตตรโยคะ ว่าด้วยโยควิธีอย่างยิ่งยวด โดยการฝึกฝนภายในจิตอย่างเดียวโดยไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องกิริยาภายนอก ซึ่งเป็นตันตระขั้นสูงสุด การฝึกจิตในระดับนี้จะต้องอาศัยอาจารย์ผู้ชำนาญ ซึ่งจะคอยถ่ายทอดคำสอนสำคัญ โดยการแสดงรหัสยนัย ซึ่งเป็นคำสอนที่ลี้ลับอาจารย์จะถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ที่ผ่านการฝึกจิตจนถึงระดับแล้วเท่านั้น ลูกศิษย์จะต้องคอยตีความและนำเอามาฝึกจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ขึ้นในตน (Alex Waymann 1997:12)
วิธีการที่พุทธศาสนาแบตันตระสอนในทิเบตนั้น คนภายนอกอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่เรียนหรือศึกษาไม่ยาก ใครต้องการเข้าถึงพุทธภาวะก็เพียงแต่เข้าหาอาจารย์และคอยตีความรหัสนัยที่อาจารย์แสดงเท่านั้นก็จะเข้าถึงอนุตตรโยคะได้แล้ว หากศึกษาตามขั้นตอนนี้ ตันตระก็ไม่ใช่นิกายที่ลึกลับอะไร แต่ที่มาของคำว่าตันตระเป็นเรื่องที่ควรศึกษา เพราะตันตระถูกนักปราชญ์หลายท่านให้คำอธิบายไว้อย่างน้ากลัว ชาวพุทธเถรวาทจึงเกรงกลัวพระพุทธศาสนาแบบตันตระยานไปด้วย
ในกรณีของธรรมกาย หากนำเอาลัทธิมาอธิบายแล้ว การเพ่งลูกแก้วจนเกิดเป็นดวงใส ที่ชาวธรรมกายถือว่าได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น แท้ที่จริงมีอธิบายไว้ในกิริยาตันตระ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น ธรรมกายไม่ได้สอนผิด เพียงแต่สอนตามหลักของตันตระยานเท่านั้น ในขณะที่รอบๆข้างเป็นเถรวาท จึงถูกโจมตี จนทำให้การสอนเรื่องธรรมกายขาดความถูกต้อง ที่ผิดเพราะไม่ตรงกับเถรวาทเท่านั้น แต่ไปตรงกับตันตระ ถ้าเพียงแต่ธรรมกายบอกว่าพวกเขาสอนตามนิกายตันตระยานเท่านั้น ทุกอย่างก็จบ เพราะตันตระยานก็คือพุทธศาสนานิกายหนึ่งสังกัดมหายาน
ทิเบตเจริญเพราะตันตระ เพราะในยุคแรกที่พระพุทธศาสนาเข้าไป ก็ด้วยการปราบผีของท่านปัทมะสัมภวะ เมื่อปราบผีราบคาบจนผียอมรับนับถือ จึงทำให้ผีเปลี่ยนศาสนา พระพุทธศาสนาในทิเบตจึงเป็นเหมือนการครอบลงไปบนความเชื่อเก่า เพียงแต่เปลี่ยนผีมาเป็นพุทธเพราะพุทธมีพลังมากกว่า สักวันหนึ่งเมื่อผีมีพลังมากขึ้นพุทธอาจจะกลายเป็นผีไปก็ได้
การที่ตันตรยานเจริญในทิเบตได้นั้น นอกจากจะเป็นเพราะการผสมผสานระหว่างพุทธกับผีแล้ว ยังมีผู้ให้ความเห็นไว้อีกว่า “ตันตรยานนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเถรวาทด้วย และอาจารยวาทด้วย องค์ทะไลลามะทรงเป็นพระภิกษุ สมาทานสิกขาบทตามพระปาฏิโมกข์ ดุจดังสมณะในบ้านเรา การถือศีลนั้นไม่ใช่เพื่องดทำร้ายผู้อื่นและเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น หากฝึกให้งดแลเห็นสภาพต่างๆตามที่ปรากฏ รวมทั้งยอมรับสมมุติสัจจ์ อันเป็นที่ยอมรับกับอย่างทั่วๆไปในสังคมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเข้าถึงปรมัตถสัจจ์นั่นเอง” (ส ศิวรักษ์ 2542: 2)
ตันตรยานจะเป็นส่วนหนึ่งของเถรวาทหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการปฏิบัติตามแบบตันตรยานนั้นมีอยู่ในเถรวาท ใครจะได้รับอิทธิพลจากใครหรือไม่อย่างไรต้องหาคำตอบต่อไป ตันตระทำให้พุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย แต่ทำไมตันตระจึงทำให้พระพุทธศาสนาแบบทิเบตเจริญ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/07/53
เอกสารอ้างอิง
กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. ภารตวิทยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยาม, 2516.
จำนงค์ ทองประเสริฐ. บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2540.
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ษัฏเสน). พระพุทธศาสนาแบบทิเบต.กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2538.
เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2541.
เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป. ลัทธิของเพื่อน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พิราบ, 2537.
สุลักษณ์ ศิวรักษ์. พุทธศาสนาตันตระหรือวัชรยาน. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2542.
วศิน อินทสระ. พุทธปรัชญามหายาน. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2530.
Alex Waymann. Tantric Buddhism. Delhi: Motilan, 1997.

นาคารชุน

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นิกายย่อยพุทธศาสนามหายาน(ต่อจากบทความครั้งที่ผ่านมา)

หลักธรรมนิกายซันเฉีย
นิกายซันเฉียก่อตั้งโดยพระภิกษุซินซิง เป็นนิกายที่เกิดขึ้นตามสภาพสังคมของจีนก่อนสมัยราชวงศ์สุย เป็นความพยายามกอบกู้พุทธศาสนาที่ใกล้ถึงจุดเสื่อม นิกายนี้แบ่งพัฒนาการของพุทธศาสนาเป็น 3 ยุค คือ
1. ระยะเวลาแห่งพระธรรมที่แท้จริง กินเวลา 500 ปี
2. ระยะเวลาแห่งพระธรรมปลอม กินเวลา 1,000 ปี
3. ระยะเวลาแห่งความเสื่อมของพระธรรม กินเวลา 10,000 ปี
ซินซิงกล่าวว่าสมัยของตนเป็นยุคเริ่มของความเสื่อม คำสอนของ 2 ระยะแรกจะใช้ไม่ได้ผลกับยุคนี้ จึงจำเป็นต้องใช้คำสอนใหม่ คำสอนหลักของนิกายนี้คือ ให้ประชาชนชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ เคร่งครัดพระธรรมวินัย โดยไม่ต้องเข้าวัด ไม่ถือว่าพระพุทธรูปกับตำราเป็นสิ่งสำคัญ สรรพสิ่งในโลกเกิดจากแหล่งเดียวกันคือ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในตัวคนทุกคน ดังนั้นทุกชีวิตจึงควรค่าแก่การเคารพ เพราะทุกคนสามารถเป็นพุทธะได้ทั้งสิ้น

หลักธรรมของนิกายหัวเหยียน
หลักคำสอนที่สำคัญถือว่าธรรมมี 2 ส่วนคือ
1. หลักสูงสุดหรือ หลี่ เป็นความจริงของสิ่งทั้งหมด
2. ปรากฏการณ์ หรือ ชิ เป็นรูปแบบที่แสดงออกมา
หลักสูงสุดและปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่กลมกลืนกัน แบ่งแยกไม่ได้ ปรากฏการณ์แต่ละอย่างที่เห็นต่างกันนั้น แท้จริงมีคุณสมบัติของหลักสูงสุดอยู่เสมอ และหลักสูงสุดนี้เป็นเอกภาพของปรากฏการณ์ทั้งหมด

หลักธรรมของนิกายโยคาจาร
นิกายนี้ถือว่าเฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นจริง สิ่งอื่นนอกจากจิตไม่เป็นจริง เป็นแต่มายาของจิต มีอยู่ เป็นอยู่เพราะการคิดของจิต จิตเรียกอีกอย่างว่าอาลยวิญญาณ หรือธาตุรู้ มีหน้าที่ 3 ประการคือ
รู้เก็บ หมายถึงรวบรวมพลังต่างๆของกรรมไว้ในอาลยวิญญาณ สิ่งที่ถูกเก็บไว้เรียกว่าพีชะ ซึ่งมี 3 อย่างคือ กุศลพีชะ อกุศลพีชะ และ อัพยากตพีชะ
รู้ก่อ หมายถึงการสร้างอารมณ์ต่างๆของจิต หรือการกำหนดอารมณ์อื่นๆที่จิตรับรู้
รู้ปรุง หมายถึง การปรุงอารมณ์ที่ก่อขึ้นให้วิจิตรพิสดารไป
อาจแบ่งบุคคลตามพีชะที่ฝังอยู่ในอาลยวิญญาณได้ 5 ระดับ เรียกว่าปัญจโคตร คือ
พุทธพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีสู่พุทธภูมิ
ปัจเจกโพธิพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
สาวกพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีเป็นพระอรหันต์
อนิยตพีชบุคคล ผู้มีคติไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการอบรม
กิจฉันติกพีชบุคคล คือผู้ที่โปรดไม่ได้ในชาตินี้ แต่อาจบรรลุได้ หากปรับปรุงตัวในชาติต่อๆไป

หลักธรรมของนิกายเทนได
หลักอิชิจิสุทำให้นิกายนี้มีลักษณะประนีประนอมต่อนิกายอื่นและต่อศาสนาชินโตด้วย ไซโชได้สร้างวัดเอนเรียวกูจิขึ้นที่ภูเขาไฮอิ เมื่อ พ.ศ. 1341 วัดนี้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นกว่า 800 ปีซึ่งในช่วงดังกล่าว พระสงฆ์นิกายนี้มีบทบาททางการเมืองด้วย

หลักธรรมของนิกายชินงอน
โดยรับคำสอนผ่านทางนิกายเชนเหยนในจีน ได้รวมเอาความเชื่อในศาสนาชินโตเข้าไว้ด้วย

หลักธรรมของนิกายโจโด
นิกายนี้เน้นให้ระลึกถึงอมิดาหรือพระอมิตาภะ เพื่อไปเกิดในเนมบุตซู (พุทธเกษตร) ภายหลังชินราน ลูกศิษย์ของโฮเนนได้ตั้งนิกายโจโด ซินชู (สุขาวดีที่แท้) ซึ่งถือว่าในพุทธเกษตรนั้นไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนดีและคนชั่ว สมาชิกของนิกายนี้ไม่จำเป็นต้องถือวินัยเป็นพิเศษ ชินรานแต่งงานและทำให้เกิดระบบการสืบสกุลของพระในญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังนิกายอื่นด้วย

หลักธรรมของนิกายนิชิเรน
นิกายนิชิเรนส่วนใหญ่จะมีคำสอนคล้ายคลึงกับนิกายเทียนไท้ ที่ยึดสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นพระสูตรหลักเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งคำสอนของพระศากยมุนีเป็น 5 ช่วง หรือลักษณะคำสอน 4 ประการ แต่เทียนไท้จะประนีประนอมมากกว่า เช่น นิกายนิชเรนโชชู จะรับคำสอนของนิกายเทียนไทเในเรื่อง หนึ่งขณะจิตสามพัน (Ichinen Sanzen) และ ความจริงสามประการ (Santai)
พระนิชิเรน ได้เขียนจดหมายถึงศิษย์ และคำสอนต่างๆไว้ ซึ่งถูกรวบรวมไว้เป็นบทธรรมนิพนธ์ ซึ่งยังมีบอกถึงวิถีการปฏิบัติของผู้นับถือ และมุมมองในคำสอนของตัวพระนิชเรนเองลงในจดหมายเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งใช้สำหรับการศึกษาธรรมของผู้นับถือ ซึ่งเรียกว่า โกโช่ หรือ บางนิกายเรียกว่า โก-อิบุน ซึ่งมีมากกว่า 700 ฉบับ ซึ่งบางฉบับนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน แต่บางฉบับก็เป็นเพียงเศษกระดาษ ซึ่งได้ถูกส่งต่อมานับศตวรรษ โดยการรวบรวม และการคัดลอก และยังมีหลายฉบับที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งส่วนมากตัวต้นฉบับนั้นจะถูกรวมรวมไว้ที่วัดไทเซขิจิ ซึ่งเป็นศุนย์กลางของ นิกาย นิชิเรนโชชู บางฉบับมีเป็นภาษาอังกฤษซึ่งถูกแปลโดยชาวต่างชาติ หรือชาวเอเชียที่รู้ภาษาญี่ปุ่น

หลักธรรมของนิกายเคงอน
เป็นคำสอนมาจากของนิกายซานรอนและนิกายฮอสโส มีหลักคำสอนใกล้เคียงกับนิกายหัวเหยียนในจีน

หลักธรรมของนิกายสรวาสติวาท
หลักธรรมโดยทั่วไปใกล้เคียงกับเถรวาท แต่ต่างกันที่ว่านิกายนี้ถือว่า ขันธ์ห้าเป็นของมีอยู่จริง พระอรหันต์เสื่อมได้ สิ่งทั้งหลายมีอยู่และเป็นอยู่ในลักษณะสืบต่อ คัมภีร์ของนิกายนี้มีผู้แปลเป็นภาษาจีนและภาษาทิเบตไว้มาก พระภิกษุในทิเบตปัจจุบันถือวินัยของนิกายนี้
หลักธรรมของนิกายเสาตรันติกวาท
นิกายนี้แพร่หลายอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ไม่มีคัมภีร์ของนิกายนี้เหลืออยู่ คงมีแต่ที่กล่าวพาดพิงถึงในคัมภีร์ของนิกายสรวาสติวาทเท่านั้น นิกายนี้ถือว่าเฉพาะวิญญาณขันธ์ในขันธ์ห้าเท่านั้นที่ไปเกิดใหม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับนิกายสมิติยวาท เชื่อว่าทุกคนมีธาตุแห่งพุทธะอยู่ในตัวเช่นเดียวกับความเชื่อของฝ่ายมหายาน นิกายนี้เมื่อแพร่หลายไปที่ญี่ปุ่นเรียกว่านิกายโจจิตสุ

หลักธรรมของนิกายนิงมะ
นิกายนิงมะแบ่งคำสอนในพุทธศาสนาออกเป็น 9 ยาน คือ
สามยานนี้เป็นคำสอนในพระสูตร
1) สาวกยาน
2) ปัจเจกพุทธยาน
3) โพธิสัตวยาน
ตันตระสาม คือ
1) กริยาตันตระ
2) อุปตันตระ
3) โยคะตันตระ
ตันตระขั้นสูงอีกสามยาน คือ
1) มหาโยคะ
2) อนุตรโยคะ
3) อติโยคะ
ทุกระดับยกเว้น อธิโยคะ คุหยสมาช กาลจักร จักรสังวร ล้วนจัดอยู่ในอนุตรโยคะทั้งสิ้น ส่วนอธิโยคะหรือซกเชนถือเป็นตันตระพิเศษสูงสุดกว่าตันตระใดๆ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์เป็นวิธีการเจาะเข้าสู่พุทธภาวะโดยตรง
จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติยานทั้งเก้าคือเพื่อก้าวพ้นโลกียะตามคำสอนของพระสมันตภัทรพุทธะ ในคำสอนของตันตระที่เป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้คือ ซอกเซ็น หรือมหาบารมี เป็นการปฏิบัติโดยสวดพระนามของปัทมสัมภวะ หรือคุรุรินโปเช และการเข้าเงียบ จะเน้นในการสวดมนต์ต์ตราธารณี การใช้สัญลักษณ์มุทรา สัญลักษณ์มณฑล ในการประกอบพิธีเพื่อเข้าสู่การบรรลุพระโพธิญาณ นิกายนี้มีความเชื่อว่าหลังจากสมัยคุรุปัทมสมภพแล้วก็ได้มีการค้นพบคำสอนซึ่งถูกซ่อนไว้โดยคุรุปัทมสมภพ ในทิเบตเรียกว่า "เทอร์มา" ซึ่งแปลว่าขุมทรัพย์อันล้ำค่า และได้ทำนายไว้ว่าในอนาคต ศิษย์ของท่านจะเป็นผู้ค้นพบและเปิดขุมทรัพย์
คำสอน 6 ยานแรกเป็นพื้นฐานของพุทธตันตระทั่วไป ส่วนสามยานสุดท้ายเป็นลักษณะพิเศษของนิกายนิงมะเชอเกียมตรุงปะ อาจารย์นิกายนิงมะ ผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 20 ได้กล่าวว่า
เถรวาทได้กล่าวว่า ตนเข้าถึงความจริงแท้ และให้หนทางที่ดีที่สุด มหายานกล่าวว่าพระโพธิสัตว์ได้ให้หนทางที่ดีที่สุดในการเข้าสู่สัจจะธรรม ส่วนผู้ปฏิบัติวัชรยานกล่าวว่า มหาสิทธะผู้ทรง ฤทธิ์อำนาจวิเศษสามารถมอบหนทางสู่การบรรลุได้อย่างวิเศษสุดคำถามและคำตอบมากมายที่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความสับสนต่างๆ นาๆ แล้วอะไรเล่าจึงเป็นสิ่งที่ปรารถนาของศิษย์ ผู้ต้องการเข้าสู่พระพุทธธรรม อธิโยคะตันตระได้ให้คำตอบไว้ว่าการมองทุกสรรพสิ่งด้วยสาย ตาของเอกซ์เรย์ มองทุกสรรพสิ่งได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และปฏิบัติตนอย่างเปล่าเปลือยทะลุ ปรุโปร่งเช่นกัน นั่นจึงเป็นธรรมชาติแท้แห่งพุทธภาวะ

หลักธรรมของนิกายกาจู
นิกายกาจูมีหลักปฏิบัติเฉพาะนิกายคือ โยคะทั้ง 6 ของนโรปะ จักรสัมภวะ มหากาล มหามุทรา ความแตกต่างของแต่ละนิกายย่อยอยู่ที่วิธีการสอนของอาจารย์ การศึกษาของพระสงฆ์ในนิกายนี้ เน้นเรื่องปัญญาบารมี มาธยมิก การรับรู้ที่ถูกต้อง พระวินัย และปรากฏการณ์วิทยา

หลักธรรมของนิกายสักยะ
นิกายสักยะมีการแบ่งเป็นนิกายย่อยหลายนิกายเช่นเดียวกับนิกายอื่นๆ คำสอนที่ถือเป็นแก่นของนิกายคือ ลัมเดร มรรควิถีและผล ปรัชญาทางมรรควิถีของนิกายนี้ถือว่าไม่สามารถแยกสังสารวัฏและพระนิพพานออกจากกันได้ เพราะจิตมีรากฐานอยู่ทั้ง 2 อย่าง ดังนั้น ผู้ฝึกฝนจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ทั้ง 2 สภาวะ การปฏิบัติที่เป็นหลักของนิกายนี้คือ เหวัชระ จักรสัมภวะ ตันตระและมารกกาล

หลักธรรมของนิกายเกลุก
นิกายเกลุก เน้นความเคร่งครัดในวินัยเป็นพื้นฐาน ลามะของนิกายนี้ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ เน้นการสอนทั้งทางพระสูตรที่เป็นวิชาการ และทางตันตระที่เน้นการปฏิบัติ และการวิเคราะห์ธรรมโดยตรรกวิภาษ หัวข้อใหญ่ที่ศึกษาคือ ปัญญาบารมี ปรัชญามาธยมิกะ การรับรู้ที่ถูกต้อง ปรากฏการณ์วิทยา และพระวินัย

หลักธรรมของนิกายไอศวาริก
นิกายไอศวาริก ซึ่งเชื่อว่าอาทิพุทธะเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่าง ไม่อาจบอกเบื้องต้น และจุดสิ้นสุดของพระองค์ได้ ประทับอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 13 เรียกอกนิษฐภูวนะ หรือ อกนิษฐพรหม อาทิพุทธะมีพระนามต่างๆมากมาย ขึ้นกับแต่ละนิกาย นิกายไอศวาริกเรียกว่าอิศวร นิกายสวาภาวิกเรียกว่า สวาภาวะ ในเนปาลและทิเบต บางครั้งเรียกพระองค์ว่า "โยคัมพร" สร้างรูปเป็นปางบำเพ็ญทุกรกิริยา มีศักติคือ ฌาเนศวร
ในญี่ปุ่นและจีน ไม่นิยมนับถืออาทิพุทธะ แต่นับถือพระธยานิพุทธะ 2 องค์คือพระอมิตาภะพุทธะกับพระไวโรจนะพุทธะว่าเป็นพระพุทธเจ้าสูงสุด และไม่ถือว่าพระพุทธเจ้าเหล่านี้มีศักติเช่นในเนปาลหรือทิเบต

หลักธรรมของนิกายวัชรยาน หรือ มหายานพิเศษ
นิกายวัชรยาน หรือ มหายานพิเศษนี้ เป็นพุทธศาสนามหายานนิกายหนึ่งในแบบลัทธิตันตระ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในประเทศอินเดีย (ในรัฐชัมมู, รัฐกัษมีร์, รัฐสิกขิม), เนปาล, ภูฏาน, ทิเบต, ปากีสถาน และ มองโกเลีย ถือหลักธรรมแบบลัทธิตันตระ


บทสรุป
หลักธรรมอันใดที่ลัทธิศาสนาปรัชญาอื่นๆ ที่อ้างว่าสำคัญและดีที่สุด ก็ปรากฏว่ามีอยู่ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เช่น ผู้ที่พอใจในการสวดอ้อนวอน พอใจที่จะไปเกิดในสถานสุขารมณ์ แลเป็นผู้มีศรัทธาจริต ยังเป็นผู้อ่อนต่อการฟังเรื่องปรัชญาสูงๆ ก็อาจมานับถือนิกายสุขาวดีได้ ผู้ที่ชอบใจในเรื่องคาถาอาคมวิชาไสยศาสตร์ต่างๆ ก็อาจมานับถือนิกายมนตรยานได้ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ต้องการหลักธรรมบริสุทธิ์อย่างดั้งเดิมของพระพุทธองค์ ก็ศึกษานับถือนิกายเถรวาท หมายความว่า พระพุทธศาสนามีทุกสิ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของมนุษย์ ลัทธิศาสนาอื่นมักไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งเสมอ ส่วนพระพุทธศาสนานั้นครอบเอาศาสนาปรัชญาอื่นๆ ไว้หมด นับเป็นศาสนาสากลได้อย่างแท้จริง ฉะนี้ นี่กล่าวโดย พระพุทธศาสนาซึ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงจนเกิดมีมหายาน สาวกยานแล้ว แต่ตัวความจริงของพระพุทธศาสนานั้นมิได้เป็นอะไรทั้งนั้น นอกจากเป็น “สัจธรรม”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนามหายาน พระจิตติเทพ ฌานวโร
เรียบเรียงจัดทำรายงาน หลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต ปี ๓
อ้างอิง:
เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕,กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม.สุขภาพใจ ๒๕๔๕.
ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. ๒๕๔๘.
อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
๒๕๓๙.
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. พระพุทธศาสนาแบบทิเบต. กทม. ศูนย์ไทยทิเบต. ๒๕๓๘.

วัดวิโรจนาราม,นาคารชุน

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นิกายมนตรยาน หรือคุยหยาน

ประวัติความเป็นมา
ลัทธิคุยหยาน ซึ่งแปลว่าลัทธิลับนั้น เป็นนิกายที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่านิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ที่รับเอาพิธีกรรมและอถรรพเวทของพราหมณ์เข้ามาสั่งสอนด้วย แต่แก้ไขให้เป็นของพระพุทธศาสนาเสีย เช่น แทนที่จะบูชาพระอิศวรก็บูชาพระพุทธเจ้าแทน ลัทธิคุยหยาน หรือมนตรยานรหัสยานนั้นมีกำเนิดในฐานะคลุมเครือ แต่เข้าใจว่าอย่างเร็วก็ไม่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๗ ขึ้นไป ขณะแรกก็คงเป็นส่วนหนึ่งในมหายาน มาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ลัทธินี้จึงได้ประกาศตนแยกออกจากมหายานเด็ดขาด กลายเป็นยานใหม่ คือ คุยหยาน แต่ก็ยังถือหลักปรัชญาในมหายานเป็นปทัฏฐาน เรียกพวกมหายานเดิมว่า พวกเปิดเผย ส่วนพวกตน เรียกว่า พวกลับ คือ เป็นมหายานชนิดลับไม่ใช่ชนิดเปิดเผย คุยหยานกำเนิดขึ้นดูเหมือนเพื่อจะเอาชนะน้ำใจชาวฮินดูที่ติดใจเรื่องยัญกรรม บวงสรวง และพระเป็นเจ้าต่างๆ จึงได้อนุโลมตามความต้องการของสังคม รับเอายัญกรรมและอถรรพเวทอาคม มนตราขลังต่างๆ เข้ามาในพระพุทธศาสนา ในตำนานของลัทธินี้กล่าวว่า หลักธรรมของมนตรยานเทศนาเปิดเผยโดยพระไวโรจนพุทธเจ้า ซึ่งเทศนาหลักธรรมนี้ในวัชรธรรมธาตุมณเฑียร ภายหลังพระวัชรสัตว์ (บ้างว่า คือ พระสมันตภัทโพธิสัตว์ บ้างว่าพระอินทร์) ได้รวบรวมไว้และบรรจุอยู่ในเจดีย์เหล็กของอินเดียใต้ ต่อมาอาจารย์นาคารชุนได้เปิดกรุพระธรรมลึกลับนี้ และได้รับอภิเษกจากพระวัชรสัตว์ จึงได้ประกาศลัทธิคุยหยานแก่โลก นาคารชุนได้ถ่ายทอดให้แก่นาคโพธิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุคคลผู้มีชีวิตในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ร่วมยุคกับท่านเฮี่ยงจัง นาคโพธิเป็นผู้ที่มีอายุยืนถึง ๗๐๐ ปีเศษ ได้จาริกเผยแพร่ลัทธิคุยหยานในแคว้นต่างๆ ตลอดถึงเกาะสิงหล นาคโพธิได้อภิเษกถ่ายทอดหลักธรรมให่แก่ศุภกรสิงห และวัชรโพธิศุภกรสิงหเดิมเป็นสาวกฝ่ายมาธยมิก เมื่อมาเลื่อมใสในคุยหยานแล้วจึงยังคงใช้ปรัชญาของศุนยตวาทินประกอบในกานสั่งสอนมนตรายานเสมอ ท่านได้จาริกมาสู่ประเทศจีนในแผ่นดินพระเจ้าถังเฮี่ยงจง ศุภกรสิงหะได้แปลพระสูตรสำคัญของคุยหยานออกสู่พากย์จีน คือ มหาไวโรจนสูตร และได้เปิดมณฑลพิธีอภิเษกมอบหมายธรรมแก่คณาจารย์อิงเหง ซึ่งท่านผู้นี้เดิมเป็นสาวกนิกายเซน และเป็นผู้แต่งอรรถกถามหาไวโรจนสูตรจำนวน ๒๐ ผูก ซึ่งเป็นอรรถกถาที่สำคัญมากของนิกายนี้ ท่านได้รับยกย่องจากพระเจ้าถังเฮี่ยงจงในฐานะเป็นรัฐคุรุ ฝ่ายวัชรโพธินั้น ได้จาริกมาประเทศจีนหลังการมาของศุภกรสิงหะ ๔ ปี ท่านได้มาพร้อมด้วยอัครสาวกชื่อ อโมฆวัชระ ได้สถาปนามณฑลพิธีอภิเษกให้แกผู้เลื่อมใสในนครเชียงอาน คณาจารย์อิกเหงได้มารับอภิเษกจากวัชระโพธิด้วยเหมือนกัน ในประการเดียวกันอโมฆวัชระก็ได้รับอภิเษกถ่ายทอดธรรมจากศุภกรสิงหะ ต่อมาอโมฆวัชระได้เดินทางกลับไปอินเดีย เพื่ออัญเชิญคัมภีร์ต่างๆ ของลัทธิคุยหยาน และเมื่อกลับมาสู่ประเทศจียแล้ว ก็มาเป็นนักแปลพระสูตรของคุยหยานชั้นเยี่ยมผู้หนึ่ง ปรากฎว่าคัมภีร์ที่ท่านผู้นี้แปลนับจำนวนร้อยผูก สาวกชั้นเอกของอโมฆวัชระมีหลายรูป ที่สำคัญคือ คณาจารย์ฮุ้ยก๊วยแห่งวัดแชเส่งยี่ (วัดมังกรเขียว) พระสงฆ์ญี่ปุ่นชื่อ โกโบไดฉิ ได้มารับอภิเษกธรรมจากท่านและเมื่อกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว คณาจารย์โกโบไดฉิได้ตั้งนิกายมนตรายานขึ้นเป็นผลสำเร็จ มีอิทธิพลมากมาย แลได้รับบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าจักรพรรดิของญี่ปุ่นด้วย เรียกว่า นิกายชิงก๎งอน มีสำนักอยู่บนภูเขาโกยาซาน ในยุคเดียวกันมีคณาจารย์ญี่ปุ่นอีกรูปหนึ่งชื่อ เด็งกโยไดฉิ จาริกมาเรียนปรัชญานิกายเทียนไท้ นิกายเซน และในที่สุดได้ไปศึกษาลัทธิมนตรายาน รับอภิเษกจากคณาจารย์ซุ่นเฮียว ผู้ซึ่งเป็นสานุศิษย์ชั้น ๓ ของศุภกรสิงหะ เมื่อท่านผู้นี้กลับมาตุภูมิจึงได้ตั้งนิกายเทียนไท้ หรือภาษาญี่ปุ่นว่า เทนไดขึ้นและสั่งสอนลัทธิมนตรายานประกอบกับปรัชญาเทียนไท้พร้อมกันไปด้วย เรียกว่า ไทมิก แปลว่า ลับ อย่างนิกายเทียนไท้ตรงข้ามกับลัทธิมนตรายานของโกโบ ส่วนในประเทศจีนนั้นถึงปลายราชวงศ์ถัง ลัทธิคุยหยานเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ พอเข้าสู่ยุคราชวงศ์เหม็งเลยสาบสูญไปจากแผ่นดินจีน คงเหลือแต่พิธีกรรมบางอย่าง และเวทมนต์บางบทติดเนื่องอยู่ในศาสนกิจของพระเท่านั้น
มนตรายานของทิเบตกับจีน ญี่ปุ่นนั้น แตกต่างกันไม่พิสดารมากนัก แต่ของทิเบตสมบูรณ์กว่าญี่ปุ่นมาก เช่น ลัทธิกาลจักรอันเป็นมนตรายานยุคหลังนั้น ฝ่ายจีนกับญี่ปุ่นหามีไม่
คัมภีร์สำคัญ
๑. มหาไวโรจนาภิสัมโพธิวิกุรฺวิตาธิฐานไวปุลยสูตร เรนฺทรราชนมปรฺยายสูตร เรียกสั้นๆ ว่า มหาไวโรจนสูตร (ไต้ยิดเก็ง) ศุภกรสิงหะกับอิกเหงร่วมกันแปล
๒. วัชรเสขรสูตร อโมฆวัชระแปล
๓. อรรถกถามหาไวโรจนสูตร ของอิกเหง
หลักธรรม
นิกายมนตรยานนั้นทั้งหลักปรัชญาก็เป็นของพราหมณ์ พิธีกรรมก็ดัดแปลงมาจากพราหมณ์ แปลว่า มีลักษณะของพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์น้อยกว่ามหายานทุกนิกาย คุยหยานหรือรหัสยาน ซึ่งแปลว่า ยานลึกลับ ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. เพราะเป็นความลึกลับ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายซ่อนเอาไว้ ไม่ทรงเปิดเผยแก่สาธารณชน นอกจากบุคคลผู้มีอุปนิสัยสันดานสูงปัญญากล้า ที่จักพอรับรสพระสัทธรรมอันเร้นลับนี้ พระองค์จึงประทานให้ เปรียบว่าผู้ใหญ่ที่ไม่ยื่นอาวุธหรือของมีคมแก่เด็กผู้ไม่รู้เดียงสา เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตราย แต่จะให้ก็เฉพาะผู้รู้ความแล้ว
๒. เพราะธรรมชาติศัพท์สำเนียงต่างๆ ในโลกนั้นแท้จริง เป็นธรรมเทศนาของพระไวโรจนพุทธเจ้า แต่ปุถุชนสัตว์มีอวิชชากำบังจึงไม่รู้แจ้ง และเข้าใจในสิ่งธรรมชาติเหล่านั้น จัดว่าเป็นความลึกลับอย่างหนึ่ง
๓. เพราะพระพุทธวจนะนั้น มีอรรถลึกนักหนา เราจะเพ่งเอาแต่รูปภาษาโวหารอย่างเดียวไม่ได้ เช่น ในพระสูตรมีกล่าวว่า “กามราคะนั่นแหละ คือ อริยมรรค โทสะและโมหะก็อันเดียวกัน” ถ้าเราไปยึดเอาตามตัวโวหาร จักกลายเป็นโทษ ผิดพุทธประสงค์ ฉะนั้น ต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาอันสุขุม
๔. เพราะการปฏิบัติเข้าถึงโพธินั้น ลำพังกำลังตนไม่พอจะต่อต้านพลมารกิเลส ต้องพึ่งอานุภาพของพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ช่วยจึงจักสำเร็จ
ธารณี
ลัทธิมนตรยาน บางทีเรียกกันอีกว่า ธารณีนิกาย ทั้งนี้เพราะนิกายนี้ถือการร่ายมนต์เป็นสำคัญยิ่งประการหนึ่ง มนต์ต่างๆ เรียกว่า “ธารณี” (ทอล่อนี้) ส่วนมากเป็นธารณีของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เทพธรรมบาล ประทานให้แก่สัตว์โลก มีมากมายเหลือคณานับ บางบทก็ยาว บางบทก็สั้นเพียงพยางค์คำเดียว แต่ละบทล้วนมีอานุภาพขลังยิ่งนัก มีทั้งใช้ในทางพระเดชและทางพระคุณ บางบทก็สามารถทำผู้เจริญให้มีกิเลสเบาบางลงได้ ผ่อนบาปของผู้นั้นน้อยลง หรือหมดสิ้นไป
มุทรา
การทำเครื่องหมายต่างๆ ด้วยนิ้วมือทั้ง ๑๐ นิ้ว หรือนิ้วใดนิ้วหนึ่ง หรือที่มือข้างใดข้างหนึ่ง เรียกว่า “มุทรา” เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ เทพธรรมบาลทั้งหลายองค์หนึ่งๆ ย่อมมีสัญลักษณ์ประจำพระองค์ เทียบด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น ปางอภัยมุทรา ปางธรรมจักรมุทรา เป็นต้น ลัทธิมนตรยานถือว่า ผู้ใดยังกายของตนคือมือทั้งสองทำเครื่องหมายเหมือนดังของพระแล้ว ก็เท่ากับว่ายังกายของตนให้สัมปยุตด้วยพระกายของพระ จักมีฤทธิ์อำนาจหนักหนา อาจใช้บังคับบัญชาพระอริยะและเทพดา ยักษ์ มาร นาค คนธรรพ์ต่างๆ ได้ ทั้งนี้เสมือนมุทรานั้นดั่งพระราชลัญจกรของพระราชา เมื่อประทับลงไปในที่ใดที่หนึ่งก็จะทำให้ที่นั้นศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจขึ้นมา
อภิเษก
นิกายนี้ถือหลักการถ่ายมอบคำสอนด้วยวิธีผ่านการอภิเษกจากอาจารย์เป็นสำคัญยิ่ง หากมิได้รับการอภิเษกแล้วจะร่ำเรียนประกอบโยคกรรมอันใด ก็ไม่ได้ผลเต็มสมบูรณ์ การอภิเษกนั้น ก็เท่ากับการครอบวิชาให้นั้นเอง
จุดเด่นเหนือนิกายอื่น
๑. ปฏิบัติตามนิกายอื่น กว่าจะบรรลุอนุตรสัมโพธิต้องกินเวลาช้านาน
๒. ลัทธิคุยหยานเหมาะกับอุปนิสัยของชนทุกชั้น ทุกวัย ทุกนิกาย
๓. ผู้ปฏิบัติตามโยคกรรมของลัทธินี้ เวลาไปอุบัติในพุทธเกษตร
๔. ข้อปฏิบัติก็ง่าย แต่มีผลานิสงส์มาก เช่น สวดธารณีก็สามารถดับอกุศลบาปกรรมในอดีตได้
๕. ลัทธินี้สามารถดับครุกรรมวิบากได้ เช่น สวดอมิตายุธารณีเพียงบทเดียว
๖. ในนิกายสุขาวดี บุคคลผู้ไปเกิดต้องบริบูรณ์ด้วยความศรัทธา ปณิธาน และปฏิบัติ จึงอุบัติได้ แต่ลัทธิคุยหยานถือว่าเพียงแต่อำนาจธารณีอย่างเดียว ก็สามารถช่วยให้คนทำครุอกุศลกรรมกลับไปในสุขาวดีได้ เช่น เสกทรายด้วยธารณี ๑๐๘ คาบ แล้วนำไปเกลี่ยลงบนหลุมศพ ผู้ตายแม้ไม่เคยทำกุศลใดเลย ก็อาจหลุดพ้นไปปฏิสนธิในสุขาวดี
๗. ในสถานที่ใด หากเป็นที่ประดิษฐานธารณี เราเพียงแต่ได้เห็นหรือได้อยู่ หรือเราได้ฟังเสียงคนร่ายธารณี หรือเราได้สังสรรค์กับผู้ร่ายธารณีเป็นนิตย์ มีอานิสงส์เท่ากับเราได้พบเห็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน และดับครุโทษได้ด้วย
๘. นิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ถือว่า การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าต้องอยู่ในปุริสภาวะ เพราะเป็นธรรมฐิติธรรมนิยามอย่างนั้น แต่ในลัทธิมนตรยานว่า ไม่จำป็น แม้อิตถีภาวะก็บรรลุได้
๙. นอกจากจะได้ปรชาติ ประโยชน์ในภพหน้าแล้วในปัจจุบันภพ หากมีทุกข์ภัยอันใด ลัทธิคุยหยานก็มีวิธีโยคกรรม ทำให้สำเร็จสมปรารถนา เช่น ต้องการได้โชคลาภ
๑๐. ปวงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่บรรลุสัมโพธิญาณล้วนต้องปฏิบัติตามธรรมในลัทธินี้ทั้งสิ้น
ปรัชญา
นิกายนี้กล่าวว่า พระไวโรจนะเป็นมูลธาตุของสากลจักรวาลและสิ่งทั้งปวง อรรถกถาแห่งไวโรจนสูตรกล่าวว่า “ลักษณะแท้จริงแห่งรูปกาย และนามกายของปวงสัตว์ แต่เบื้องมีกาลอันไม่ปรากฏ ก็เป็นปรัชญาภาวะอันเสมอแห่งพระองค์ไวโรจนะ”
จตุรมณฑล
เราทราบแล้วว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ มหาภูตทั้ง ๖ มหาภูตทั้ง ๖ นั้น ว่าโดยปรากฎการณ์แล้ว อาจแบ่งได้เป็น ๔ มณฑลด้วยกัน ที่เรียกว่า มณฑลนั้น ก็เนื่องด้วยธรรมเหล่าใดที่มีปัจจัยจากธาตุ ๖ ธรรมเหล่านั้นก็สมบูรณ์ด้วยภาวะ ปรากฎการณ์ทั้ง ๔ อยู่ร่วมกัน ฉะนั้น จึงเรียกว่า “มณฑล”
ทวิมณฑล
พระไวโรจนพุทธทรงสำแดงคุณลักษณะของพระองค์ออกมาด้วยมณฑลทั้ง ๒ คือ วัชรธาตุมณฑล อันปรากฏอาคตสถานจากวัชรเสขรสูตร ๑ กับครรภธาตุมณฑล อันปรากฎอาคตสถานจากมหาไวโรจนสูตร ๑ วัชรธาตุมณฑลแสดงถึงปัญญาคุณของพระตถาคต ซึ่งมีอยู่ในสรรพสัตว์ ส่วนครรภธาตุมณฑลแสดงถึงภาวะอันแท้จริง และคุณลักษณะของพระตถาคต

บรรลุเป็นพุทธะด้วยกายเนื้อ
มนตรยานถือว่า ทุกคนสามารถบรรลุโพธิญาณได้ด้วยรูปกาย และนามกาย (คือ จิต) ในปัจจุบันชาตินี้ ภพนี้ และบัดนี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า มหาภูตของพระไวโรจนพุทธะกับมหาภูตของเรา ต่างก็มีภาวะอันเดียวกัน
จตุรมูลศีล
มูลสิกขาบทอันสำคัญของลัทธิคุยหยานมีอยู่ ๔ ข้อ ผู้ใดละเมิด ถือว่าเป็นครุโทษหนัก เทียบด้วยปราชิกทีเดียว คือ
๑. ไม่ละพระสัทธรรม
๒. ไม่ละโพธิจิต
๓. ไม่มีธรรมมัจฉริยะ
๔. ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์
อัคนิโมหะ
มนตรยานมีพิธีบูชาไฟเช่นเดียวกับพราหมณ์เหมือนกัน และถือว่าเป็นพิธีสำคัญมาก มีการก่อกองกูณฑ์ แล้วเอาสิ่งของบูชาโยนเข้าไปในกองกูณฑ์นั้น ลัทธินี้อธิบายว่า อัคนิโมหะของตนไม่เหมือนกับพราหมณ์ ทั้งนี้เพราะพราหมณ์นั้นบูชาพระอัคนี และถือว่าเทพเจ้าอยู่เบื้องสรวงสวรรค์ มนตรยานถือว่า สิ่งของต่างๆ ที่โยนลงไฟเปรียบด้วยไฟเป็นแสงสว่างแห่งปัญญา เผากิเลส อวิชชา
จตุรอาถรรพณ์
มนตรยานมีการบำเพ็ญอาถรรพณ์ ในทางกฤตยาคุณ ทั้งทางพระเดชและพระคุณอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. พิธีอาถรรพณ์ ในทางสร้างความสุขให้เกิดขึ้น
๒. พิธีอาถรรพณ์ ในทางเพิ่มเติมความสุขสมบูรณ์
๓. พิธีอาถรรพณ์ ในทางกำราบศัตรูที่เป็นผู้ขัดขวางพระสัทธรรม
๔. พิธีอาถรรพณ์ ในทางเมตตา
อ้างอิง : เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.
นาคารชุน

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นิกายธรรมลักษณะ หรือฮวบเซียงจง

ประวัติความเป็นมา
นิกายธรรมลักษณะ เป็นชื่อที่เรียกกันในภาษาจีนหมายถึงปรัชญาโยคจาร หรือวิชญาณวาทินนั่นเอง มีคุณลักษณะทั้งทางหลักคำสอนกับการปฏิบัติใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานที่สุด จัดได้ว่าเป็นปรัญาฝ่ายอภิธรรมมหายานเลยทีเดียว การสำเร็จแห่งปรัชญา โยคาจารได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมในนิกายเถรวาท มหาสัฆิกะ สรวาสติวาทิน และเสาตรันติกะ รวมกันปรุงขึ้นเป็นโยคาจาร โยคาจารได้ถูกประกาศให้แพร่หลายขึ้นโดยอาจารย์อสังคะ (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๙ ) ซึ่งกล่าวกันว่าท่านได้รับการอรรถาธิบายจากพระศรีอารยเมตไตรย ณ กรุงอโยธยาในอินเดียภาคกลาง พระศรีอารยเมตไตรยนี้ มีผู้เชื่อกันว่า คือ พระโพธิสัตว์อารยเมตไตรยที่จักมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตนั้นเอง แต่ก็มีปราชญ์เป็นอันมากถือว่าเป็นเพียงพระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเผอิญมีนามตรงกันกับพระเมตไตรยโพธิสัตว์เท่านั้น พระอารยเมตไตรยได้แสดงศาสตร์ทั้ง ๕ เป็นหลักของปรัชญาโยคาจาร ต่อมาอสังคะได้นิพนธ์คัมภีร์อารยวาจาปกรณ์ศาสตร์ และมหายานสัมปริครหศาสตร์เผยแผ่ปรัชญาสายนี้ต่อมา อย่างไรก็ดี ปรัชญาโยคาจารได้เจริญรุ่งโรจน์ขึ้นก็ด้วยอาศัยอาจารย์วสุพันธุ ผู้ซึ่งเป็นน้องชายของอสังคะ วสุพันธุเดิมเลื่อมใสในนิกายสรวาสติวาทิน และเสาตรันติกะ ได้เขียนปกรณ์วิเศษทางอภิธรรมฝ่ายสาวกยานไว้มาก กล่าวกันว่ามีจำนวนถึง ๕๐๐ ปกรณ์ ต่อมาได้รับการตักเตือนสั่งสอนจากพี่ชายจนเกิดความเลื่อมใสในมหายานขึ้น วสุพันธุจึงได้แต่งคัมภีร์ประกาศปรัชญาโยคาจารเป็นอันมาก ว่ากันว่ามีจำนวนถึง ๕๐๐ ปกรณ์เหมือนกัน เล่มที่สำคัญที่สุดก็คือ วิชญาณปติมาตราตรีทศศาสตร์ ต่มามีคณาจารย์อีกเป็นอันมากที่สงเสริมเทศนาสั่งสอนปรัชญาโยคาจาร มีมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นสนามประกาศลัทธิ คณาจารย์องค์สำคัญๆ มีอาทิ เช่น ทินนาคะ สานุศิษย์ของวสุพันธุผู้แต่งคัมภีร์ประมาณ สมุจจัย คุณมติ สถิรมติ ธรรมปาละ นันทะ ศุทธิจันทร พันธุศิริ (องค์นี้ร่วมยุคกับวสุพันธุ) ชินตราต วิชัยมิตร ชินบุตร ญาณจันทระ ศีลภัทระ ชัยเสน ธรรมกีรติ ศานติเทวะ คณาจารย์เหล่านี้ มีทั้งภิกษุและฆราวาส คณาจารย์ภิกษุองค์ที่มีบทบาทสำคัญ คือ ธรรมปาละ อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา และศีลภัทระ ผู้สาวก
คัมภีร์สำคัญ
ฝ่ายโยคาจารถือว่ามีพระสูตรอยู่ ๖ สูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเมศนาถึงหลักธรรมโยคาจารไว้ และมีศาสตร์อีก ๑๑ ปกรณ์ เป็นหลักลัทธิ คือ
หลักธรรมสำคัญ
สูตรทั้ง ๖
๑. อวตํสกสูตร (ฮั่วเงี่ยมเก็ง) มีฉบับแปลอยู่ถึง ๓ ฉบับ ของพุทธภัทระ ศิกษานันทะ และปรัชญา
๒. สันธินิรโมจนวยูหสูตร (เกยชิมมิกเก็ง) ภิกษุเฮี่ยงจังแปลเป็นฉบับที่ถูกต้อง นอกนั้นมีของโพธิรุจิ และปรมัตถะ และคุณภัทระ
๓. ตถาคตวิสภวคุณสูตร (ยู่ไล้ชุกฮิ่งกงเต๊กเก็ง) ยังไม่มีในฉบับจีน
๔. อภิธรรมสูตร (อาพีตับม๊อเก็ง) ยังไม่มีในฉบับจีน
๕. ลังกาวตารสูตร (เลงแคเก็ง) มีฉบับแปล ๓ ฉบับของคุณภัทระ โพธิรุจิ ศิกษานันทะ
๖. ฆนวยูหสูตร (เก่าเงียมเก็ง) ทิวากรแปล
ศาสตร์ ๑๑
๑. โยคาจารภูมิศาสตร์ (ยู่แคซือหลุง) ของพระอารยเมตไตรย เฮี่ยงจังแปล
๒. มัธยานตวิภังคศาสตร์ (เปี้ยงตงเปียงหลุง) ของพระอารยเมตไตรย เฮี่ยงจังแปล
๓. อารยวาจาปกรณ์ศาสตร์ (เฮี่ยงเอี๋ยงเซียก้าหลุง) ของพระอสังคะ เฮี่ยงจังแปล
๔. มหายานสัมปริครหศาสตร์ (เนียบไต้เสงหลุง) ของพระอสังคะ เฮี่ยงจังแปล มีฉบับแปลอีก ๒ ของปรมัตถะ และพุทธคุปตะ
๕. อาลัมพนปริกศาสตร์ (กวงซออ้วงอ่วงหลุง) ของทินนาค เฮี่ยงจังแปล
๖. อภิธรรมสังยุกตสังคีติศาสตร์ (อาพีตับม๊อจับจิบหลุง) ของอสังคะ เฮี่ยงจังแปล
๗. วีศติกวิชญาณมาตราศาสตร์ (ยี่จับยุ่ยเซกหลุง) ของวสุพันธุ เฮี่ยงจังแปล
๘. ทศภูมิศาสตร์ (จับตี้หลุง) ของวสุพันธุ โพธิรุจิแปล
๙. มหายานอลังการศาสตร์ (ไต้เสงจังเงียมหลุง) ของพระอารยเมตไตรย ปอล่อพัวมิกตอล้อ แปล
๑๐. ประมาณสมุจจัย (จิบเหลียงหลุง) ของทินนาคยังไม่มีในฉบับจีน
๑๑. โยควิภังคศาสตร์ (ฮุงเปี๋ยกยู่แคหลุง) ของพระอารยเมตไตรย ยังไม่มีในฉบับจีน
นอกจากศาสตร์ทั้ง ๑๑ นี้ ยังเพิ่มคัมภีร์วิชญาณมาตราสิทธิตรีทศศาสตร์ ซึ่งเฮี่ยงจังรวบรวม และบรรดาฎีกาต่างๆ ของศาสตร์นี้ด้วย
ปรัชญา
ปรัชญาโยคาจารได้สอนหนักไปทางลัทธิมโนภาพนิยม (Idealism) ด้วยการสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าสังขตะ อสังขตะ ล้วนแต่ออกจากจิตทั้งสิ้น จิตนี้เรียกว่า อาลยวิชญาณ หรืออาลยวิญญาณ วิญญาณนี้ แท้จริงก็คือ ตัวภวังคจิตในอภิธรรมปิฎกของฝ่ายเถรวาทนั่นเอง เป็นจิตที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ สืบภพสืบชาติแลรับอารมณ์ เสวยวิบากอยู่เรื่อยจนกว่าจะเข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ จิตนี้ก็จักดับสุดรอบ มูลการณะของสรรพสิ่งอยู่ที่อาลยวิญญาณๆ นี้เป็นปทัฏฐาน
ปรัชญาโยคาจารได้สอนถึงวิญญาณทั้ง ๘ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ กลิศตมโนวิญญาณ และอาลยวิญญาณ
ปัญจวิญญาณ
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจถึงเรื่องวิญญาณทั้ง ๘ ก่อน ปัญจวิญญาณทั้งย่อมไม่มีปัญหาว่าจะแตกต่างกับเถรวาทอย่างไร คือ เมื่อจักขุเห็นรูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ หูฟังเสียงก็เกิดโสตวิญญาณ ฯลฯ ดังนี้ ตามแนวแห่งโยคาจรถือว่าปัญจวิญญาณจะเกิดขึ้นโดยลำพัง อินทรีย์กับวิสัยมากระทบกันอย่างเดียวก็หาไม่ ต้องอาศัยปัจจัย ๙ อย่าง มีที่ว่าง แสงสว่าง อินทรีย์ คือ จักขุปสาทรูป รูปวิสัย มนสิการ จิต มโนธาตุ มโนวิญญาณ และพีชะ ส่วนผู้ที่ได้ทิพย์จักขุไม่ต้องอาศัยที่ว่างกับแสงสว่าง ๒ อย่าง นอกนั้นคงต้องอาศัย โสตวิญญาณเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยปัจจัย ๘ ยกแสงสว่างออกเสียอันหนึ่ง เปลี่ยนโสตประสาทและศัพทวิสัยเสีย ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเกิดก็ต้องอาศัยปัจจัย ๗ อย่าง คือ ยกแสงสว่างและที่ว่างเสีย นอกนั้นเปลี่ยนเป็นฆานปสาทรูป คันธวิสัย ชิวหาปสาทรูป ชิวหาวิสัย กับกายปสาทรูป กายวิสัยเท่านั้น ปัญจวิญญาณทั้ง ๕ รับอารมณ์ใกล้ไกลหาเหมือนกันไม่ คือ จักขุ โสตะ เป็นอสัมปัตตะ เพราะรับอารมณ์ที่ห่างไกลออกไปได้ ส่วนฆานะ ชิวหา กาย เป็นสัมปัตตะ เพราะต้องรับอารมณ์ที่มาถึงตน ต่างกันอย่างนี้แลปัญจวิญญาณ
มโนวิญญาณ
มโนวิญญาณความรู้ทางใจ มี ๒ พฤติการณ์ คือ มโนวิญญาณที่เป็นไปในปัญจทวารขณะรับรู้อารมณ์ทั้ง ห้า ๑ แลมโนวิญญาณที่รับรู้อารมณ์ขณะปัญจทวารมิได้ทำการรับอารมณ์ ๑ มโนวิญญาณนี้พิจารณาทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ต่างจากปัญจวิญญาณซึ่งเป็นได้แต่ปัจจุบัน มโนวิญญาณมีหน้าที่สำคัญในการที่เป็นต้นเหตุแห่งการประกอบกรรมดีกรรมชั่ว มโนวิญญาณเป็นได้ทั้งกุศล อกุศล และอัพยากฤต เช่นเดียวกับปัญจวิญญาณ มโนวิญญาณจะขาดตอนไม่มีก็ต่อเมื่อเข้าสู่อสัญญีภพ เข้าสัญญีสมาบัติ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ คนที่หลับสนิท และคนสลบไม่มีฝัน
มโนหรือมนินทรีย์
ปัญจวิญญาณ ๕ ย่อมต้องอาศัยอินทรีย์ ๕ เป็นที่อาศัยจึงเกิดได้ คือ จักขุวิญญาณก็ต้องอาศัยจักขุนทรีย์ เป็นต้น ฉันใด มโนวิญญาณจะบังเกิดพฤติการณ์ได้ ก็ต้องมีที่อาศัยกล่าว คือ มนินทรีย์ฉันนั้น ผิดกันแต่อินทรีย์ของปัญจวิญญาณเป็นรูปธรรม ส่วนอินทรีย์ของมโนวิญญาณเป็นนามธรรม ฝ่ายโยคาจารได้ให้อรรถาธิบายถึงมนินทรีย์ ผิดแผกจากมโนวิญญาณว่า มโนธาตุหรือมนินทรีย์นี้เป็นวิญญาณที่ ๗ สภาพเป็นอัพยากฤต มีหน้าที่ยึดถืออาลยวิญญาณว่าเป็นตัวตน เป็นตัวอุปทานที่ไปยึดครองอาลยวิญญาณ ซึ่งอาลยวิญญาณนี้เป็นสภาพที่ถูกยึดโดยมนินทรีย์หรือมโน ไม่มีหน้าที่พิจารณารับรู้อารมณ์ภายนอก รับรู้ยึดติดแต่อารมณ์ภายใน แต่เนื่องด้วยมโนธาตุเป็นตัวทำการยึดถือในอาลยวิญญาณ จึงมีอิทธิพลสามารถกระเทือนไปถึงมโนวิญญาณ ให้มีความรู้สึกไปในทางกุศลากุศลได้ เพราะฉะนั้น แม้ธรรมชาติจะเป็นอัพยากฤตก็นับเป็นอาสวะ ฉะนี้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลิศตมโนวิญญาณ มีการคิดพิจารณาในอาลยวิญญาณ ว่าเป็นตัวตนเสมอ ไม่ขาด สืบสันตติเนื่องกันไปจนกว่าจะสิ้นภพชาติพ้นกิเลส มโนวิญญาณขาดตอนได้ด้วยเหตุผล ๕ ประการ แต่กลิศตมโนนี้จะขาดก็ต่อเมื่อบรรลุพระอรหัตผล หรือเข้าสู่สัญญานิโรธสมาบัติเท่านั้น ฝ่ายโยคาจารให้เหตุผลที่จะต้องมีกลิศตมโนนี้ว่า ในอสัญญีภพ ซึ่งเป็นพรหมลูกฟักมีแต่รูป แม้จนกระทั่งนามธาตุก็ดับแล้ว กิเลสอาสวะทั้งหลายก็ไม่มีที่เกิดมิสูญหายไปหรือ ถ้ากิเลสอาสวะนั้นมีอยู่ มันไปอยู่ที่ไหน ฝ่ายโยคาจารไม่เห็นด้วยกับมติที่ว่า อสัญญีสัตว์ดับนามธาตุ แต่ถึงว่าเป็นปัญจวิญญาณ และมโนวิญญาณดับหมดได้ แต่กลิศตมโนหาดับไม่มีอยู่ มิฉะนั้นแล้วอสัญญีสมาบัติกับนิโรธสมาบัติก็มีข้อแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะทั้ง ๒ สมาบัติต่างดับสัญญาเวทนาด้วยกันเหลือแต่ร่างกายไว้เท่านั้น (ฝ่ายเถราวทก็ถือว่าอสัญญีสัตว์ นามธาตุดับหมดไม่เหลือ จึงถูกฝ่ายโยคาจารค้านด้วย)
อาลยวิญญาณ
วิญญาณที่ ๘ ชื่อว่า อาลยวิญญาณ ที่ได้ชื่อดังนี้ก็เพราะเป็นสภาพถูกยึดจากกลิศตมโนว่าเป็นตัวตน อาลยวิญญาณก็คือ ตัวภวังคจิต ในบาลีอภิธรรมนั่นเอง มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น จิต สรวพีชวิญญาณ อทานวิญญาณ ปัจจุบันวิญญาณ มูลวิญญาณ วิปากวิญญาณ เป็นต้น ฝ่ายโยคาจารได้สร้างปรัชญาวิชญาณวาทิน (Idealism) ขึ้นจากอาลยวิญญาณนี้ คือ สอนว่า ทุกสิ่งอย่างล้วนแต่เป็นจิต แลออกมาจากจิตทั้งสิ้น อาลยวิญญาณนี้ เป็นมูลกรณะของโลกแลสรรพสิ่งในอภิธรรมสูตร มีคาถาโศลกหนึ่งว่า “อนาทิกาลิโก ธาตุ สรฺวธรฺมสมาศฺรยะ ตสฺมินฺ สติ คติ สรฺวา นิรฺวาณาธิคโมปิ วา” ธาตุที่ไม่มีกาลเบื้องต้น ( คือ อาลยวิญญาณ) เป็นที่อาศัยแห่งธรรมทั้งปวง เมื่อธาตุนั้นมี ก็มีคติทั้งปวง กับทั้งการบรรลุพระนิรวาณด้วย
อาลยวิญญาณเป็นมูลฐานแห่งสรรพสิ่ง ถ้าไร้อาลยวิญญาณนี้แล้ว สรรพสิ่งก็ไม่มี ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยสรรพสิ่งเป็นเงาสะท้อนออก หรือพฤติภาพของอาลยวิญญาณนั่นเอง ปรัชญาโยคาจารยุคแรก มีอสังคะ วสุพันธุ ถือว่า สิ่งทั้งปวงเป็นแต่ความคิดของเรา สิ่งทั้งปวงอยู่ในจิตของเรา ครั้นมาถึงยุคหลังสมัยธรรมปาละ ทินนาค ได้สอนต่างๆ ออกไปหน่อย คือ สอนว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกใจก็เหมือนกัน แต่มูลกำเนิดของมันก็ไม่พ้นไปจากใจได้
พีชในอาลยวิญญาณ
หลักปฏิจจสมุปบาท หรือกฎปัจจยาการถือว่าสิ่งที่เป็นเหตุย่อมมีผล หรือผลย่อมไหลมาแต่เหตุมาแต่เหตุ เป็นหลักพุทธศาสนาทั่วไป ปรัชญาโยคาจารสอนว่า ผลทั้งหลายที่ปรากฏแก่เรา รวมทั้งตัวเราด้วย หรือสังสารวัฏนี้ย่อมไหลมาแต่เหตุของมัน เหตุอันนี้เรียกว่า พีชะ (พืช) มีอยู่ในอาลยวิญญาณ แลเนื่องด้วยสิ่งทั้งหลายในโลกมีผิดแผกแตกต่างไปตามสภาพ เช่น มีกุศลธรรม อกุศลธรรม สาสวธรรม อนาสวธรรม นามธรรม รูปธรรม พีชะก็มีมากมายหลายประเภทตามไปด้วย สิ่งๆ หนึ่งก็มีพีชะของตนหาเหมือนกันไม่ แต่สรุปแล้วคงได้ตามสภาพ คือ กุศลพีชะ อกุศลพีชะ และอัพยากฤตพีชะ หรือจัดเป็นสอง คือ สาสวพีชะกับอนาสวะพีชะ พีชะเทียบได้กับพลังงานที่สามารถก่อให้เกิดผล ไม่ใช่มีรูปลักษณะเช่นกับเม็ดพืชของพันธ์ไม้ พลังงานเหล่านี้เก็บอยู่ในวิญญาณทั้ง ๖ เช่น รูปวิสัย เป็นต้น
ปัญจโคตร
ปรัชญาโยคาจารได้แบ่งสภาวะของสัตว์ทั้งปวงออกเป็นโคตร เรียกว่า ปัญจโคตร ปัญจโคตรนี้เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม มีอยู่โดยธรรมชาติ นับแต่การเบื้องต้นไม่ปรากฏ คือ
๑. สาวกโคตร สัตว์ผู้มีสาวกโคตรมีสาวกพีชะอยู่บรรลุได้ก็เพียงแต่อรหันตภูมิเป็นอย่างสูง
๒. ปัจเจกโคตร สัตว์ผู้มีปัจเจกพีชะ บรรลุได้แต่เพียงปัจเจกภูมิ ทั้ง ๒ พวกนี้ละได้แค่กิเลสสารวณะ แต่ยังละธรรมาวรณะไม่ได้
๓. โพธิสัตวโคตร สัตว์ผู้มีโพธิสัตว์พีชะหรืออนุตตรสัมโพธิพีชะ บรรลุถึงโพธิสัตว์ภูมิ พุทธภูมิ ละกิเลสาวรณะ และธรรมาวรณะได้เด็ดขาด
๔. อนิยตโคตร สัตว์ผู้มีทั้งสาวกพีชะ ปัจเจกพีชะ โพธิสัตวพีชะ อาจบรรลุสาวกภูมิ ปัจเจกภูมิ สัมมาสัมพุทธภูมิได้ สุดแล้วแต่ปณิธาน
๕. อิจฉันติกโคตร สัตว์ผู้ไม่มีพีชะแห่งการบรรลุอริยภูมิทั้ง ๓ เพราะไม่มีอนาสวพีชะเลย จึงไม่อาจละกิเลสวรณะ ธรรมาวรณะได้ บรรลุได้ก็แต่โลกิยสมบัติมีสวรรค์ มนุษย์ เป็นต้น จะบรรลุโลกุตตรภูมิไม่ได้เลย
ปัจจัย ๔
๑. เหตุปัจจัย ได้แก่ พีชะของธรรมๆ หนึ่งเป็นเหตุโดยตรงก่อนเกิดธรรมนั้นๆ ขึ้น
๒. อนันตรปัจจัย ได้แก่ จิต เจตสิก ย่อมเกิดดับสืบเนื่องเป็นขณะ ขณะหน้าดับ ขณะหลังเกิดติดต่อกันเรื่อยไปไม่มีระหว่าง
๓. อารัมณปัจจัย ได้แก่ ทัศนภาคของจิต ถือเอาลักษณภาคของจิตเป็นอารมณ์
๔. อธิปติปัจจัย ได้แก่ ธรรมที่ส่งเสริมแก่กัน และกันให้ยิ่งๆ ขึ้นไปให้สำเร็จ เช่น พีชะเป็นเหตุปัจจัยแก่ต้นไม้ แสงแดดการรดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ย ก็เป็นอธิปติปัจจัยแก่ต้นไม้นั้น
ทั้ง ๔ ปัจจัยนี้ รูปธรรมบังเกิดขึ้น อาศัยเหตุปัจจัย และอธิปติปัจจัย ๒ อย่าง ส่วนนามธรรม มีจิตเจตสิกเกิดขึ้นต้องอาศัยปัจจัยครบทั้ง ๔ ( บาลีอภิธรรมสอนปัจจัย ๒๔ )
ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
โยคาจารจัดระเบียบปฏิจจสมุปบาทออกเป็นเหตุและผลดังนี้ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปาทาน ภพ = เหตุ ชาติ ชรามรณะ = ผล
ไตรสภาวะ
ทฤษฎีไตรภาวะ นับเป็นหลักการสำคัญยิ่งของฝ่ายโยคาจาร และเป็นปัญหาข้อโต้เถียงกับฝ่ายมาธยมิกที่เผ็ดร้อนยิ่ง สภาวะทั้ง ๔ คือ
๑. ปริกัลปิตลักษณะ คือ สภาวะที่หลงผิด ยึดถือในสิ่งทั้งหลายที่ปราศจากตัวตนว่าเป็นตัวตน ที่ไม่เที่ยงแท้ว่า เที่ยงแท้ ที่ไม่มีอยู่จริงว่ามีอยู่จริง อุปมาดังบุคคลเดินไปในที่มืด เหยียบถูกเชือกเข้าสำคัญว่างู ความสำคัญผิดคิดว่าเชือกเป็นงูนี้ เรียกว่า ปริกัลปิตลักษณะ
๒. ปรตันตรสภาวะ ได้แก่ สังขตธรรมต่างๆ มีจิต เจตสิก รูป เป็นต้น ย่อมเกิดมาจากเหตุปัจจัยเป็นปัจจัยนั้น คือ เหตุปัจจัย อนันตรปัจจัย อารัมมณปัจจัย อธิปติปัจจัย นั่นเอง
๓. ปริณิษปันนสภาวะ ได้แก่ อสังขตธรรมมีพระนิวารณ สภาพปรมัตถ์ของสรรพสิ่ง คือ สภาพของสังขตธรรมที่ต้องเป็นทุกขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ( เป็นทุกข์ คือ ต้องแปรปรวน ไม่เที่ยงคงทน และไม่มีตัวตน ) กับสภาพของอสังขตธรรมที่เป็นอนัตตาอย่างเดียว ( ทั้งนี้เพราะอสังขตธรรมพ้นจากการปรุงแต่ง จึงไม่เป็นทุกขํ และไม่เป็นอนิจฺจํ แต่เป็นอนัตตา ) สภาพสัจจปรมัตถ์ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ไม่มีใครก่อตั้งหรือมีสิ่งใดมาปรุงแต่ง ไม่อาจกลับกลายเปลี่ยนเป็นอื่นไปได้
จตุรญาณ
ฝ่ายโยคาจารสร้างทฤษฎีจตุรญาณ คือ ญาณทั้ง ๔ มี
๑. กฺฤตยานุษฺฐานชฺญาณ (เซ้าซอจักตี) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนปัญจวิญญาณ ที่ประกอบด้วยสาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
๒. ปฺรตฺยเวกฺษณชฺญาณ (เมี่ยวกวงฉักตี่) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนมโนวิญญาณ ที่ประกอบด้วยสาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
๓. สมตาชฺญาณ (เพ่งเต้งแส่ตี่) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนกลิศตมโนวิญญาณ ที่ประกอบด้วย สาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
๔. อาทรฺศนชฺญาณ (ไต้อี้เกี้ยตี่) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนอาลยวิญญาณ ที่ประกอบด้วยสาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
ญาณทั้ง ๔ บังเกิดขึ้นแล้ว กิเลสอวิชชาทั้งหลายที่เป็นไปในวิญญาณทั้ง ๘ ก็ไม่มี บุคคลนั้นได้บรรลุวิมุตติแล้ว
ฝ่ายโยคาจารได้จัดระเบียบแสดงธรรมของพระพุทธองค์ออกเป็น ๓ กาล คือ
๑. ปฐมกาล พระพุทธองค์เทศนาอัสติธรรม คือ เทศนาอริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เทศนาหลักธรรมฝ่ายสาวกยาน
๒. มัชฌิมกาล พระพุทธองค์เทศนาศูนยตธรรม คือ เทศนาคติศูนยตาตามนัยมาธยมิกแก่ฝ่ายมหายาน
๓. ปัจฉิมกาล พระพุทธองค์เทศนาหลักธรรมขั้นอันติมะที่แท้จริง คือ เทศนาหลักธรรมในฝ่ายโยคาจาร ซึ่งถือว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ติดทั้งอัตถิตา และนัตถิตา คือ ไม่ติดในความมีหรือความมีหรือความไม่มี ฉะนั้น ปรัชญาโยคาจารจึงสูงกว่าฝ่ายมาธยมิก นี่เป็นวาทะของสาวกฝ่ายโยคาจาร
เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๕ , กรุงเทพฯ: มหากุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.นาคารชุน พระจิตติเทพ ฌานวโร เขียน ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓,๒๒.๐๓ น.

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นิกายตรีศาสตร์ หรือซาหลุงจง

ประวัติความเป็นมา
นิกายนี้อาศัยศาสตร์ ๓ ปกรณ์ คือ มาธยมิกศาสตร์ ศตศาสตร์ และทวาทศนิยายศาสตร์ รวมกันเป็นชื่อของนิกาย อาจารย์นาคารชุนเป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายนี้ (บ้างว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) ท่านเป็นผู้ตั้งทฤษฎีศูนยตวาทิน อรรถาธิบายหลักปัจจยาการ และอนัตตาของพระพุทธองค์โดยวิถีใหม่ คัมภีร์ที่ท่านรจนามีจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ มาธยมิกศาสตร์ และมหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ มาธยมิกศาสตร์นอกจากประกาศแนวทฤษฎีศูนยตาแล้ว ยังได้วิพากย์นานามติเชนไว้ด้วย อรรถกถาของศาสตร์นี้มีผู้แต่งกันไว้มาก ฉบับที่แปลสู่พากย์จีนมี ๒ ฉบับ เป็นของนีลเนตร และของภาววิเวก ส่วนคัมภีร์ศตศาสตร์นั้นเป็นของอาจารย์เทวะ เป็นหนังสือวิพากย์ปรัชญาฮินดูทั้งเวทานตะ สางขยะ ไวเศษิกนะ นยายะ โยคะ และเชน ไว้อย่างถึงพริกถึงขิง เผยให้เห็นความเป็นเลิศเด่นของพระพุทธ คัมภีร์ที่ ๓ นั้นเป็นของอาจารย์นาคารชุนจัดเป็นหนังสือเบื้องต้นสำหรับศึกษาปรัชญาศูนยตวาทิน เนื่องด้วยอาจารย์นาคารชุนได้ยกและกอบกู้ฐานะของพุทธศาสนาให้รุ่งโรจน์ ประกอบทั้งความเป็นบรมปราชญ์ปราดเปรื่องของท่าน พุทธศาสนิกชนมหายานทุกๆ นิกายยกย่องท่านในฐานะคุรุผู้ยิ่งใหญ่เสมอ ปรัชญาศูนยตวาทินได้แผ่เข้าไปในประเทศจีนโดยกุมารชีพ กล่าวกันว่า กุมารชีพเป็นศิษย์ร่ำเรียนปรัชญานี้ กับเจ้าชายสูรยโสมะแห่งยารกานต์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาถ่ายทอดจากนีลเนตร ศิษย์ของราหุละ และราหุละได้ศึกษาโดยตรงจากอาจารย์เทวะทีเดียว กุมารชีพแปลปกรณ์ ๓ ที่นครเชียงอานและบรรดาสานุศิษย์รูปเอกๆ ของกุมารชีพหลายรูปได้เทศนาสั่งสอนปรัชญานี้ให้แพร่หลาย ตกถึงแผ่นดินซุ้ยมีคันถรจนาจารย์ผู้หนึ่งชื่อกิกจั๋ง ได้แต่งอรรถกถาศาสตร์ทั้ง ๓ เป็นภาษาจีน ทำให้นิกายนี้เจริญถึงขีดสูงสุด ครั้นเข้ายุคราชวงศ์ถังเมื่อท่านติปิฏกธราจารย์เฮี่ยงจังประกาศปรัชญาวิชญาณวาทินอยู่ เลยทำให้รัศมีฝ่ายศูนยตวาทินอับลงตราบเท่าทุกวันนี้
คัมภีร์ที่สำคัญ
๑. มาธยมิกศาสตร์ (ตงหลุง) ของพระนาคารชุน
๒. ทวาทศนิกายศาสตร์ (จับยี่มึ่งหลุง) ของพระนาคารชุน
๓. ศตศาสตร์ (แปะหลุง) ของพระอารยเทวะ
๔. มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ (ไต้ตี้โต่หลุง) ของพระนาคารชุน ทั้ง ๔ ศาสตร์นี้ กุมารชีพแปล
๕. กรตลรัตนศาสตร์ (เจียงเตียงหลุง) ของภาววิเวก
๖. อรรถกถาแห่งศาสตร์ทั้ง ๓ ของคันถรจนาจารย์กิกจั๋ง
๗. พระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตา มีมหาปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น
หลักธรรม
อาจารย์นาคารชุนได้ประกาศทฤษฎีศูนยตวาทินด้วยอาศัยหลักปัจจยาการ และอนัตตาของพระพุทธองค์เป็นปทัฏฐาน ท่านกล่าวว่า สังขตธรรม อสังขตธรรม มีสภาพเท่ากัน คือ สูญ (สรฺวมฺ ศูนฺยมฺ) ไม่มีอะไรที่มีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวของมันเองได้อย่างปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แม้กระทั้งพระนิวราณ เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่สังขตธรรมเป็นมายาไร้แก่นสารเลย พระนิรวาณก็เป็นมายาด้วย สิ่งที่อาจารย์นาคารชุนคัดค้านปฏิเสธก็คือ สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวมันเอง ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอยู่โดยสมมติหรือปรมัตถ์ ก็สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวของมันเองอยู่นั้น กินความหมายกว้าง รวมทั้งอาตมันหรืออัตตาอยู่ด้วย แต่เรื่องอาตมัน พระพุทธศาสนาทุกนิกาย (ยกเว้นพวกนิกายวัชชีบุตรและพวกจิตสากล) ก็ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ไม่ยอมให้มีเหลือเศษอะไรอยู่แล้ว แต่ตามทัศนะของอาจารย์นาคารชุน ท่านคณาจารย์เหล่านั้นถึงแม้ปฏิเสธความมีอยู่ด้วยตัวมันเองเพียงแต่อาตมันเท่านั้น แท้จริงยังไปเกิดอุปทานยึดสิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวมันเองในขันธ์ ธาตุ อายตนะ พระนิรวาณว่ามีอยู่ด้วยตัวของตัวเองอีก เห็นว่ามีกิเลสที่จะต้องละ และมีพระนิรวาณที่จะบรรลุ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด นาคารชุนกล่าวว่า สิ่งที่เราเข้าใจว่ามันเป็นจุดสิ่งสุดท้ายที่มีอยู่ได้ด้วยตัวมันเองนั้น แท้จริงก็เกิดจากปัจจัยอื่นอีกมากหลายปรุงแต่งขึ้น เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่มีภาวะอันใดแน่นอนของตัวเองเช่นนี้ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นดุจมายา สิ่งใดเป็นมายา สิ่งนั้นก็ไร้ความจริง จึงจัดว่าสูญ นาคารชุน อธิบายว่า สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง ย่อมบ่งถึงความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น จะเปลี่ยนแปลงมีได้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นการขัดต่อกฎปัจจยาการของพระพุทธศาสนา เพราะตามกฎแห่งเหตุปัจจัย สิ่งทั้งปวงย่อมต่างอาศัยเหตุปัจจัยจึงมีขึ้นเป็นขึ้น มิได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอยู่โดยโดดเดียว ดังนั้นถ้าถือว่ามีสิ่งที่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเองโดดเดี่ยวเช่นนี้ ย่อมจัดเข้าเป็นฝ่ายสัสสตทิฏฐิไป อนึ่ง ถ้ามีความเห็นว่าทั้งปวงขาดสูญปฏิเสธต่อบาปบุญคุณโทษเล่า ก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ หลักธรรมฝ่ายศูนยตวาทินจึงไม่เป็นทั้งฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ก็เพราะแสดงถึงแก่นความจริงว่า สรฺวมฺ ศูนฺยมฺ ด้วยความที่ไร้ภาวะที่โดดเดี่ยวโดยตัวมันเอง และไม่เป็นทั้งอุจเฉททิฏฐิหรือนัตถิกทิฏฐิ ก็เพราะแสดงว่า สิ่งทั้งปวงอาศัยเหตุปัจจัย เป็นดุจมายามีอยู่โดยสมมติบัติญัติ ด้วยประการฉะนี้
อย่างไรก็ดี แม้ปรัชญาของมาธยมิกจะเป็นหลักศูนยตาเช่นนี้ และศูนยตาตามทัศนะของมาธยมิก มิใช่ชนิดที่ทอนสิ่งหยาบไปหาสิ่งย่อยๆ เช่น ทอนจากอาตมันเป็นขันธ์ ๕ ทอน จากขันธ์ ๕ เป็นธาตุ ทอนจากธาตุเป็น ฯลฯ เช่น นิกายอื่นๆ ศูนยตาของมาธมิก หมายถึง ความเป็นมายาทั้งสังขตะอสังขตะไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวยืนให้สมมติบัญญัติเลย แต่เมื่อปรัชญามาธยมิกแพร่เข้าสู่ประเทศจีน คณาจารย์จีนซึ่งมีความนิยมภูตตถตาวาทิน ตลอดจนเก่งกาจในทางสมานความคิดระหว่างศูนยตวาทินกับอัสติวาทิน ก็แปลความหมายของอาจารย์นาคารชุนเสียว่า ที่มาธยมิกกล่าวว่า ทุกสิ่งเป็นศูนยตานั้นก็เพื่อจะให้เรารู้จักสภาวะที่ไม่สูญ คือ ภูตตถตาอันอยู่นอกเหนือสมมติบัญญัติ และเพื่อให้เราละยึดถือเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่มิรู้แตกดับหักสูญต่างหาก ซึ่งคล้ายกับมติของพระอาจารย์บางท่านในประเทศไทยว่า พระพุทธองค์สอนอนัตตาก็เพื่อให้เราค้นพบอัตตาที่แท้จริง ซึ่งกลายเป็นตกสู่ความเป็นคู่ คือ อัตถิตา นัตถิตาไป พระนิวารณถ้ากล่าวตามคลองบัญญัติแล้วฝ่ายมาธยมิกว่า พ้นจากภาวะและอภาวะนั่นแหละ คือ พระนิรวาณ

อ้างอิง: เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ: มหากุฏราช
วิทยาลัย,๒๕๔๘.
พระจิตติเทพ ฌานวโร เรียบเรียงรายงาน ๐๙.๓๖ น. ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓.

นาคารชุน

นิกายเซน หรือธฺยาน หรือเซี้ยงจง

ประวัติของนิกาย
นิกายนี้ ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า เซี้ยงจง แต่เนื่องด้วยคนไทยเราทราบชื่อนิกายนี้ตามภาษาญี่ปุ่นมาว่า นิกายเซน ซึ่งเป็นมูลศัพท์เดียวกัน จึงเรียกตามญี่ปุ่นด้วย พุทธาศาสนิกชนสังกัดนิกายนี้กล่าวว่า หลักธรรมแห่งนิกายนี้ มีสมุฏฐานโดยตรงมาจากภาวะความตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้งของพระพุทธองค์ภายใต้ต้นโพธิพฤกษ์ ต่อมาในปี ๔๙ แห่งการภายหลังแต่ตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้ชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งท่ามกลางพุทธบริษัทแทนคำเทศนาอันยืดยาว แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเข้าใจในความหมาย นอกจากพระมหากัสสปะผู้เดียวซึ่งยิ้มน้อยๆ อยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนกัสสปะ ตถาคตมีธรรมจักษุครรภ์อันถูกตรงและนิพพานจิต ลักษณะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะเธอพึงรักษาไว้ด้วยดี พระพุทธวจนะนี้เป็นบ่อเกิดของนิกายเซน และพระมหากัสสปะก็ได้เป็นปฐมาจารย์ของนิกายด้วยกล่าวกันว่า ในอินเดียมีคณาจารย์ของนิกายเซนซึ่งสืบเนื่องกันไม่ขาดสาย โดยการมอบหมายตำแหน่งให้กันถึง ๒๘ รูป จนถึงพระโพธิธรรมเป็นองค์ที่ ๒๘ พระโพธิธรรม (พู่ที้ตับม๊อ) ท่านได้จาริกมาสู่ประเทศจีนในราวกลางพุทธสตวรรษที่ ๑๐ ได้เข้ามาพบสนทนาธรรมกับพระเจ้าเหลียงบูเต้ แห่งราชวงศ์เหลียง แต่ทัศนะไม่ตรงกัน พระโพธิธรรมจึงได้ไปพำนักที่วัดเซียวลิ่มยี่ ณ ภูเขาซงซัว นั่งสมาธิผินหน้าเข้าฝาอยู่ถึง ๙ ปี และได้มอบหมายธรรมให้แก่ฮุ้ยค้อสำเร็จเป็นนิกายเซนขึ้น โดยที่ท่านเป็นปฐมาจารย์ของนิกายนี้ในประเทศจีน คณาจารย์ฮุ้ยค้อเป็นทุติยาจารย์ ฮุ้ยค้อได้มอบธรรมให้แก่เจ็งชั้น เจ็งชั้นให้แก่เต้าสิ่งถึงคณาจารย์เต้าสิ่งซึ่งนับเป็บองค์ที่ ๔ นิกายเซนแบ่งออกเป็น ๒ สำนัก คือ สำนักของคณาจารย์ฮ่งยิ่ม เรียกว่า สำนักอึ้งบ้วย ซึ่งถือกันว่าเป็นสำนักที่สืบเนื่องมาโดยตรง และสำนักของคณาจารย์ฮวบย้ง เรียกว่า สำนักงู่เท้า ซึ่งเป็นสำนักแฝงเท่านั้น คณาจารย์ฮ่งยิ่มสำนักอึ้งบ้วยเป็นปัญจมาจารย์ของนิกายเซน ต่อมานิกายเซนแห่งจีนก็เกิดแตกออกเป็น ๒ สำนักเหมือนกัน สำนักแรกถือกันว่าเป็นสำนักสืบเนื่องมาจากฮ่งยิ่มโดยตรง ผู้เป็นคณาจารย์ชื่อ ฮุ้ยเล้ง สำนักนี้อยู่ทางใต้ของจีน แพร่หลายไปทั่วจีนใต้ อีกสำนักหนึ่งผู้เป็นคณาจารย์ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับท่านฮุ้ยเล้งเหมือนกันชื่อ สิ่งซิ่ว ตั้งตั้งสำนักอยู่ที่จีนเหนือ มูลเหตุแห่งการแยกนั้น เราดูจากโศลกคาถาของท่านทั้ง ๒ รูปก็จะเห็นชัด คราวหนึ่งคณาจารย์ฮ่งยิ่มประกาศว่าจะมอบหมายตำแหน่งให้แก่ศิษย์ แล้วให้ศิษย์ทั้งหลายไปเขียนโศลกคาถาตามปัญญาของตนมาให้ดู เพื่อจะสอบว่าความรู้ของผู้ใดจะสูง
ท่านสิ่งซิ่วเขียนโศลกว่าดังนี้
ซินยู่พู่ที่ซิ่ว กายนี้อุปมาเหมือนต้นโพธิ์
ซิมยู่เม่งเกี้ยไท้ ใจนี้อุปมาเหมือนกระจกเงา
ซีซีขึ่งฮุกซิก จงหมั่นขัดหมั่นปัดเสมอ
ไม่ไซเยี่ยติ้นอาย อย่าให้ฝุ่นละอองจับคลุมได้
ส่วนโศลกของท่านฮุยเล้ง (ตามประวัติว่าท่านไม่รู้หนังสือขอร้องให้คนอื่นเขียนตามคำบอกของท่าน)
พู่ที่ปุ้งฮุยซิ่ว ต้นโพธิ์นี้เดิมมิใช่เป็นต้นโพธิ์
เม่งเกี่ยเอี่ยฮุยไท้ กระจกเงาเดิมก็มิใช่กระจก
ปุ้งไล้ม่อเจ๊กม้วย แต่เดิมไม่มีอะไรสักอย่าง
ฮ่อชู่เยียติ้งอาย แล้วจะถูกฝุ่นละอองจับคลุมที่ตรงไหน
ความในโศลกของท่านฮุ้ยเล้งลึกซึ่งกว่า จึงได้รับตำแหน่ง อนึ่ง ด้วยทัศนะของคณาจารย์ทั้ง ๒ ต่างกันเช่นนี้ วิธีปฏิบัติจึงพลอยต่างกัน สำนักเหนือมีวิธีปฏิบัติเป็นไปโดยลำดับ ส่วนสำนักใต้ปฏิบัติอย่างฉับพลัน เรียกว่า น้ำตุ้งปักเจี๋ยม แปลว่า ใต้เร็ว เหนือลำดับ
อนึ่ง ต่อมาสำนักนี้ได้แตกแยกออกเป็นแขนงอีกหลายแขนง ที่สำคัญมี ๕ คือ สำนักนิ่มชี้ เช่าตั้ง อุ้ยเอี้ยง และสำนักฮวบงั้ง ๕ สำนักนี้ สำนักนิ่มชี้แพร่หลายที่สุด จนถึงในยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้
คัมภีร์ที่สำคัญ
ความจริงนิกายเซนถือว่าเป็นคำสอนพิเศษ เผยแผ่ด้วยวิธีใจสู่ใจ ไม่อาศัยตัวหนังสือหรือการอธิบาย แต่เนื่องด้วยอินทรีย์ของสัตว์มีสูงต่ำ นิกายนี้จึงจำต้องอาศัยหนังสือ และคำพูดมาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นเพียงอุบายวิธีเท่านั้น ฉะนั้น คัมภีร์ของนิกายนี้จึงมีมากไม่แพ้นิกายอื่น คัมภีร์ที่เป็นหลัก คือ
๑. ลังกาวตารสูตร (เลงแคเก็ง) คุณภัทระแปล และฉบับแปลของโพธิรุจิ ศิกษานันทะอีก ๒ ฉบับ
๒. วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร (กิมกังปัวเยียกปอล่อมิกเก็ง) กุมารชีพแปล
๓. วิมลกีรตินิทเทศสูตร (ยุยม่อเคียกซ่อส้วยเก็ง) กุมารชีพแปล
๔. มหาไพบูลยสมันตโพธิสูตร (ไต้ฮวงก้วงอี้กักเก็ง) พุทธตาระแปล
๕. ศูรางคมสมาธิสูตร (ซิงเล่งเงี้ยมซาม่วยเก็ง) สูตรนี้สงสัยกันว่าชาวจีนแต่งขึ้นเอง ในพระไตรปิฎกจีนมีอีกสูตรหนึ่งชื่อเหมือนกัน แต่ไม่พิสดารดังสูตรนี้
๖. ลักโจ๊วไต้ซือฮวบป้อตั้วเก็ง ซึ่งเป็นปกรณ์สำคัญที่สุด กล่าวถึงประวัติของคณาจารย์ฮุ้ยเลง และภาษิตของท่าน
๗. ซิ่งซิมเม้ง (จารึกสัทธาแห่งจิต) ของคณาจารย์เจงชั้ง
๘. จวยเสี่ยงเสงหลุง (อนุตตรยานศาสตร์) ของคณาจารย์ฮ่งยิ่ม
๙. จงเกี้ยลก (บันทึกกระจกแห่งนิกาย) รวบรวมโดยเอี่ยงซิว
๑๐. ม่อมึ่งกวง (ด่านที่ไม่มีประตู) ของจงเสียว
๑๑. นั้งเทียนงั่งมัก (จักษุแห่งเทพยดาแลมนุษย์) ของตี้เจียว
๑๒. ตุ้งหงอยิบเต๋าฮวบมึ้ง (ประตุวิถีแห่งการเข้าถึงธรรมอย่างฉับพลัน) เป็นหนังสือถามตอบอย่างง่ายแก่การเข้าใจ นอกจากนี้ ยังมีบรรดาอาจริยภาษิตของคณาจารย์ต่างๆ แห่งนิกายเซนอีกมาก
หลักธรรม
นิกายนี้ถือว่าสัจภาวะ ย่อมอยู่เหนือการพูด การคิด เราจะค้นสัจธรรมในหนังสือพระไตรปิฎกย่อมไม่พบ นอกจากเราจะต้องหันมาบำเพ็ญดูจิตใจของตนเอง เพราะความจริงเราจะหาได้ภายในตัวเรานี้เอง จะไปค้นหาภายนอกไม่ได้ นิกายนี้จึงว่า ปุกลิบบุ้นยี่ แปลว่า ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือเป็นรากฐานหรอก ติกจี้นั้งซิม แปลว่า แต่ชี้ตรงไปยังใจของคน นิกายนี้มีปรัชญาว่า
สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมีอมตจิตเป็นมูลการณะ สิ่งทั้งหลายเป็นปรากฎการณ์ของอมตภาวะนี้เท่านั้น อมตภาวะนี้มีอยู่ทั่วไปในสรรพชีวะทั้งหลาย อมตภาวะนี้แผ่ครอบคลุมทั่วทุกหนแห่งไม่มีขีดจำกัด และสรรพสิ่งจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเรียกว่าชีวิตเป็นหนึ่ง คือ มีมูลภาวะอันเดียวกัน อมตภาวะนี้ก็คือ จิตของเรานั้นเอง แต่เป็นแก่นอันแท้จริงของจิตของเราจิตนั้นไม่เกิดดับ ที่เกิดดับเป็นเพียงปรากฎการณ์ซึ่งเป็นมายาหาใช่ภาวะจิตที่แท้จริงไม่ ลักษณะของจิตนี้เป็นอย่างไร ดังคำอธิบายของท่านอาจารย์เซนองค์หนึ่งของญี่ปุนว่า มหึมาจริงหนอ เจ้าจิต ฟ้าที่สูงไม่อาจประมาณถึงสุดได้แล้ว แต่จิตก็อยู่พ้นฟ้านั้นขึ้นไปอีก แผ่นดินที่หนาไม่อาจวัดได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแผ่นดินนั้นลงไป แสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ไม่อาจข้ามได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นไปอีก โลกธาตุทั้งปวงอันมีปริมาณดุจเม็ดทรายไม่มีที่สิ้นสุด แต่จิตก็อยู่นอกเหนือจักรวาลทั้งหลายนั้นไปอีก จะว่าเป็นอวกาศหรือจะเป็นภาวะธาตุหรือจิตนี้ครอบงำอวกาศทรงไว้ซึ่งภาวะธาตุเดิม อาศัยตัวของเรา ฟ้าจึงครอบจักรวาลแลดินจึงรองรับ (จักรวาล) อาศัยตัวเรา ดวงอาทิตย์แลดวงจันทร์จึงหมุนเวียนไป อาศัยตัวเรา ฤดูทั้ง ๔ จึงมีการเปลี่ยนแปลง และอาสัยตัวเรา สรพสิ่งจึงอุบัติขึ้น มหึมาจริงนะ เจ้าจิตนี่ข้าจำเป็นต้องให้นามบัญญัติเจ้าละว่า เอกปรมัตถสัจจะ หรือปรัชญาสัจลักษณ์ หรือเอกสัตยธรรมธาตุ หรืออนุตตรสัมโพธิ หรือศูรางคมสมาธิ หรือสัมมาธรรมจักษุครรภ์ หรือนิพพานจิต
นิกายเซนถือว่าพระพุทธองค์กับสรรพสัตว์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะจิตธาตุอันนี้ ดังภาษิตของคณาจารย์เซนอึ้งเพก กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายกับสรรพสัตว์ ต่างมีจิตเดียวกัน ไม่มีสิ่งอะไรต่างหาก จิตนี้นับตั้งแต่กาลเบื้องต้นอันไม่ปรากฏ ก็ไม่เคยเกิด ไม่เคยดับ ไม่เป็นสีเขียวสีเหลือง ไม่มีรูป ไม่มีลักษณะ ไม่อยู่ในวงว่ามีหรือไม่มี ไม่เป็นของใหม่หรือของเก่า ไม่ยาวไม่สั้น ไม่ใหญ่ไม่เล็ก อยู่พ้นการประมาณวัดทุกอย่าง พ้นชื่อเสียงเรียงนาม พ้นร่องรอย และความเป็นคู่ คือ สภาพในเดี๋ยวนี้ ถ้าเกิดมีอารมณ์หวั่นไหวขึ้นก็ต้องไป (น้ำทะเลเกิดคลื่น) จิตนี้เหมือนอากาศ ไม่มีขอบเขต ไม่อาจวัดได้ จิตดวงเดียวนี้แหละ คือ พุทธะ
ซาเซน
พุทธภาวะที่ไม่เกิดแก่เจ็บตายอันมีอยู่ทั่วไป และมีอยู่แก่สรรพสัตว์ทั้งสิ้น และเป็นภาวะบริสุทธิ์มาแต่ดั้งเดิม แต่ปุถุชนถูกอวิชชากำบัง เข้าใจว่าตนนั้นเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นความหลงผิดนั้น ต้องกำจัดอวิชชานี้ออกไปเสีย ด้วยวิธีทำซาเซน ซึ่งภาษาจีนว่า ชัมเซี้ยง คือ ทำฌานให้เกิด นิกายเซนกล่าวว่า ปัญญากับฌานจะแยกกันมิได้ ฌานที่ไร้ปัญญาก็มิใช่ฌานชนิดโลกุตตระ นิกายเซนมีวิธี เรียกว่า ชัมกงอั่ว หรือภาษาญี่ปุ่นว่า โกอาน ซึ่งแปลกันอย่างเอาความหมายก็คือ การขบปริศนาธรรม อาจารย์เซนจะมอบปริศนาธรรม เช่นว่า สุนัขมีพุทธภาวะหรือไม่หน้าตาดั้งเดิมของเจ้าก่อนพ่อแม่ให้กำเนิดคืออย่างไร สิ่งทั้งปวงรวมเป็นหนึ่งแล้ว หนึ่งจะรวมในที่ใด ผู้ใดเป็นผู้สวดมนต์ภาวนาอยู่นี้ ศิษย์จะนำไปคิดจนกระทั่งขบแตก ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกแห่งปัญญาที่จะนำตนให้พ้นวัฏสงสารที่เดียว ภูมิธรรม การบรรลุธรรมของนิกายเซนแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ คือ
๑. ระยะแรก เรียกว่า ชอกวง หรือปุนชัม ได้แก่ การขบปริศนาธรรมแตก เกิดปัญญาความรู้แจ่มจ้า เห็นภาวะดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสของตนเอง (นี้เทียบด้วยทัสสนมรรค)
๒. ระยะกลาง เรียกว่า เต้งกวง คือ การใช้ปัญญา พละ และในระยะนั้นเอง กำราบสรรพกิเลสให้อยู่นิ่ง เป็นตะกอนน้ำนอนก้นถังอยู่
๓. ระยะหลัง เรียกว่า หมวกเอ้ากวง ตือ การทำลายกิเลสที่เป็นตะกอนนอนก้นนั้นให้หมดสิ้นไม่เหลือเลย

อ้างอิง: เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.
พระจิตติเทพ ฌานวโว เรียบเรียงรายงาน

นาคารชุน

นิกายย่อยของมหายาน

พุทธศาสนามหายานแตกเป็นนิกายย่อยๆต่างกันไปในแต่ละประเทศดังนี้
ในอินเดีย
นิกายมาธยมิก
นิกายโยคาจาร
นิกายจิตอมตวาท
นิกายตันตระ
ในจีน
นิกายสุขาวดี หรือชิงถู่
นิกายฌาน หรือเซน
นิกายสัทธรรมปุณฑริก หรือเทียนไท้
นิกายซันเฉีย
นิกายฮัวเหยน
นิกายฟาเสียง
นิกายวินัย หรือ หลู่จุง
นิกายเชนเหยน
ในญี่ปุ่น
นิกายเทนได
นิกายชินกอน หรือชินงอน
นิกายโจโด
นิกายเซน
นิกายนิชิเรน
นิกายซานรอน
นิกายฮอสโส
นิกายเคงอน
นิกายริตสุ
นิกายกุชา
นิกายโจฮิตสุ
ในทิเบต
นิกายนิงมะ
นิกายกาจู
นิกายสักยะ
นิกายเกลุก
ในเนปาล
นิกายไอศวาริก
นิกายสวาภาวิก
นิกายการมิก
นิกายยาตริก
มหายานในประเทศไทย
จีนนิกาย
อนัมนิกาย
นิกายนิชิเรน


มหายาน จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org/wiki/Mahayana
24 พ.ค.2553 17.08 น. พระจิตติเทพ ฌานวโร

นาคารชุน