วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นิกายมนตรยาน หรือคุยหยาน

ประวัติความเป็นมา
ลัทธิคุยหยาน ซึ่งแปลว่าลัทธิลับนั้น เป็นนิกายที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่านิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ที่รับเอาพิธีกรรมและอถรรพเวทของพราหมณ์เข้ามาสั่งสอนด้วย แต่แก้ไขให้เป็นของพระพุทธศาสนาเสีย เช่น แทนที่จะบูชาพระอิศวรก็บูชาพระพุทธเจ้าแทน ลัทธิคุยหยาน หรือมนตรยานรหัสยานนั้นมีกำเนิดในฐานะคลุมเครือ แต่เข้าใจว่าอย่างเร็วก็ไม่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๗ ขึ้นไป ขณะแรกก็คงเป็นส่วนหนึ่งในมหายาน มาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ลัทธินี้จึงได้ประกาศตนแยกออกจากมหายานเด็ดขาด กลายเป็นยานใหม่ คือ คุยหยาน แต่ก็ยังถือหลักปรัชญาในมหายานเป็นปทัฏฐาน เรียกพวกมหายานเดิมว่า พวกเปิดเผย ส่วนพวกตน เรียกว่า พวกลับ คือ เป็นมหายานชนิดลับไม่ใช่ชนิดเปิดเผย คุยหยานกำเนิดขึ้นดูเหมือนเพื่อจะเอาชนะน้ำใจชาวฮินดูที่ติดใจเรื่องยัญกรรม บวงสรวง และพระเป็นเจ้าต่างๆ จึงได้อนุโลมตามความต้องการของสังคม รับเอายัญกรรมและอถรรพเวทอาคม มนตราขลังต่างๆ เข้ามาในพระพุทธศาสนา ในตำนานของลัทธินี้กล่าวว่า หลักธรรมของมนตรยานเทศนาเปิดเผยโดยพระไวโรจนพุทธเจ้า ซึ่งเทศนาหลักธรรมนี้ในวัชรธรรมธาตุมณเฑียร ภายหลังพระวัชรสัตว์ (บ้างว่า คือ พระสมันตภัทโพธิสัตว์ บ้างว่าพระอินทร์) ได้รวบรวมไว้และบรรจุอยู่ในเจดีย์เหล็กของอินเดียใต้ ต่อมาอาจารย์นาคารชุนได้เปิดกรุพระธรรมลึกลับนี้ และได้รับอภิเษกจากพระวัชรสัตว์ จึงได้ประกาศลัทธิคุยหยานแก่โลก นาคารชุนได้ถ่ายทอดให้แก่นาคโพธิ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบุคคลผู้มีชีวิตในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ร่วมยุคกับท่านเฮี่ยงจัง นาคโพธิเป็นผู้ที่มีอายุยืนถึง ๗๐๐ ปีเศษ ได้จาริกเผยแพร่ลัทธิคุยหยานในแคว้นต่างๆ ตลอดถึงเกาะสิงหล นาคโพธิได้อภิเษกถ่ายทอดหลักธรรมให่แก่ศุภกรสิงห และวัชรโพธิศุภกรสิงหเดิมเป็นสาวกฝ่ายมาธยมิก เมื่อมาเลื่อมใสในคุยหยานแล้วจึงยังคงใช้ปรัชญาของศุนยตวาทินประกอบในกานสั่งสอนมนตรายานเสมอ ท่านได้จาริกมาสู่ประเทศจีนในแผ่นดินพระเจ้าถังเฮี่ยงจง ศุภกรสิงหะได้แปลพระสูตรสำคัญของคุยหยานออกสู่พากย์จีน คือ มหาไวโรจนสูตร และได้เปิดมณฑลพิธีอภิเษกมอบหมายธรรมแก่คณาจารย์อิงเหง ซึ่งท่านผู้นี้เดิมเป็นสาวกนิกายเซน และเป็นผู้แต่งอรรถกถามหาไวโรจนสูตรจำนวน ๒๐ ผูก ซึ่งเป็นอรรถกถาที่สำคัญมากของนิกายนี้ ท่านได้รับยกย่องจากพระเจ้าถังเฮี่ยงจงในฐานะเป็นรัฐคุรุ ฝ่ายวัชรโพธินั้น ได้จาริกมาประเทศจีนหลังการมาของศุภกรสิงหะ ๔ ปี ท่านได้มาพร้อมด้วยอัครสาวกชื่อ อโมฆวัชระ ได้สถาปนามณฑลพิธีอภิเษกให้แกผู้เลื่อมใสในนครเชียงอาน คณาจารย์อิกเหงได้มารับอภิเษกจากวัชระโพธิด้วยเหมือนกัน ในประการเดียวกันอโมฆวัชระก็ได้รับอภิเษกถ่ายทอดธรรมจากศุภกรสิงหะ ต่อมาอโมฆวัชระได้เดินทางกลับไปอินเดีย เพื่ออัญเชิญคัมภีร์ต่างๆ ของลัทธิคุยหยาน และเมื่อกลับมาสู่ประเทศจียแล้ว ก็มาเป็นนักแปลพระสูตรของคุยหยานชั้นเยี่ยมผู้หนึ่ง ปรากฎว่าคัมภีร์ที่ท่านผู้นี้แปลนับจำนวนร้อยผูก สาวกชั้นเอกของอโมฆวัชระมีหลายรูป ที่สำคัญคือ คณาจารย์ฮุ้ยก๊วยแห่งวัดแชเส่งยี่ (วัดมังกรเขียว) พระสงฆ์ญี่ปุ่นชื่อ โกโบไดฉิ ได้มารับอภิเษกธรรมจากท่านและเมื่อกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว คณาจารย์โกโบไดฉิได้ตั้งนิกายมนตรายานขึ้นเป็นผลสำเร็จ มีอิทธิพลมากมาย แลได้รับบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าจักรพรรดิของญี่ปุ่นด้วย เรียกว่า นิกายชิงก๎งอน มีสำนักอยู่บนภูเขาโกยาซาน ในยุคเดียวกันมีคณาจารย์ญี่ปุ่นอีกรูปหนึ่งชื่อ เด็งกโยไดฉิ จาริกมาเรียนปรัชญานิกายเทียนไท้ นิกายเซน และในที่สุดได้ไปศึกษาลัทธิมนตรายาน รับอภิเษกจากคณาจารย์ซุ่นเฮียว ผู้ซึ่งเป็นสานุศิษย์ชั้น ๓ ของศุภกรสิงหะ เมื่อท่านผู้นี้กลับมาตุภูมิจึงได้ตั้งนิกายเทียนไท้ หรือภาษาญี่ปุ่นว่า เทนไดขึ้นและสั่งสอนลัทธิมนตรายานประกอบกับปรัชญาเทียนไท้พร้อมกันไปด้วย เรียกว่า ไทมิก แปลว่า ลับ อย่างนิกายเทียนไท้ตรงข้ามกับลัทธิมนตรายานของโกโบ ส่วนในประเทศจีนนั้นถึงปลายราชวงศ์ถัง ลัทธิคุยหยานเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ พอเข้าสู่ยุคราชวงศ์เหม็งเลยสาบสูญไปจากแผ่นดินจีน คงเหลือแต่พิธีกรรมบางอย่าง และเวทมนต์บางบทติดเนื่องอยู่ในศาสนกิจของพระเท่านั้น
มนตรายานของทิเบตกับจีน ญี่ปุ่นนั้น แตกต่างกันไม่พิสดารมากนัก แต่ของทิเบตสมบูรณ์กว่าญี่ปุ่นมาก เช่น ลัทธิกาลจักรอันเป็นมนตรายานยุคหลังนั้น ฝ่ายจีนกับญี่ปุ่นหามีไม่
คัมภีร์สำคัญ
๑. มหาไวโรจนาภิสัมโพธิวิกุรฺวิตาธิฐานไวปุลยสูตร เรนฺทรราชนมปรฺยายสูตร เรียกสั้นๆ ว่า มหาไวโรจนสูตร (ไต้ยิดเก็ง) ศุภกรสิงหะกับอิกเหงร่วมกันแปล
๒. วัชรเสขรสูตร อโมฆวัชระแปล
๓. อรรถกถามหาไวโรจนสูตร ของอิกเหง
หลักธรรม
นิกายมนตรยานนั้นทั้งหลักปรัชญาก็เป็นของพราหมณ์ พิธีกรรมก็ดัดแปลงมาจากพราหมณ์ แปลว่า มีลักษณะของพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์น้อยกว่ามหายานทุกนิกาย คุยหยานหรือรหัสยาน ซึ่งแปลว่า ยานลึกลับ ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. เพราะเป็นความลึกลับ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายซ่อนเอาไว้ ไม่ทรงเปิดเผยแก่สาธารณชน นอกจากบุคคลผู้มีอุปนิสัยสันดานสูงปัญญากล้า ที่จักพอรับรสพระสัทธรรมอันเร้นลับนี้ พระองค์จึงประทานให้ เปรียบว่าผู้ใหญ่ที่ไม่ยื่นอาวุธหรือของมีคมแก่เด็กผู้ไม่รู้เดียงสา เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตราย แต่จะให้ก็เฉพาะผู้รู้ความแล้ว
๒. เพราะธรรมชาติศัพท์สำเนียงต่างๆ ในโลกนั้นแท้จริง เป็นธรรมเทศนาของพระไวโรจนพุทธเจ้า แต่ปุถุชนสัตว์มีอวิชชากำบังจึงไม่รู้แจ้ง และเข้าใจในสิ่งธรรมชาติเหล่านั้น จัดว่าเป็นความลึกลับอย่างหนึ่ง
๓. เพราะพระพุทธวจนะนั้น มีอรรถลึกนักหนา เราจะเพ่งเอาแต่รูปภาษาโวหารอย่างเดียวไม่ได้ เช่น ในพระสูตรมีกล่าวว่า “กามราคะนั่นแหละ คือ อริยมรรค โทสะและโมหะก็อันเดียวกัน” ถ้าเราไปยึดเอาตามตัวโวหาร จักกลายเป็นโทษ ผิดพุทธประสงค์ ฉะนั้น ต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาอันสุขุม
๔. เพราะการปฏิบัติเข้าถึงโพธินั้น ลำพังกำลังตนไม่พอจะต่อต้านพลมารกิเลส ต้องพึ่งอานุภาพของพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ช่วยจึงจักสำเร็จ
ธารณี
ลัทธิมนตรยาน บางทีเรียกกันอีกว่า ธารณีนิกาย ทั้งนี้เพราะนิกายนี้ถือการร่ายมนต์เป็นสำคัญยิ่งประการหนึ่ง มนต์ต่างๆ เรียกว่า “ธารณี” (ทอล่อนี้) ส่วนมากเป็นธารณีของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เทพธรรมบาล ประทานให้แก่สัตว์โลก มีมากมายเหลือคณานับ บางบทก็ยาว บางบทก็สั้นเพียงพยางค์คำเดียว แต่ละบทล้วนมีอานุภาพขลังยิ่งนัก มีทั้งใช้ในทางพระเดชและทางพระคุณ บางบทก็สามารถทำผู้เจริญให้มีกิเลสเบาบางลงได้ ผ่อนบาปของผู้นั้นน้อยลง หรือหมดสิ้นไป
มุทรา
การทำเครื่องหมายต่างๆ ด้วยนิ้วมือทั้ง ๑๐ นิ้ว หรือนิ้วใดนิ้วหนึ่ง หรือที่มือข้างใดข้างหนึ่ง เรียกว่า “มุทรา” เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ เทพธรรมบาลทั้งหลายองค์หนึ่งๆ ย่อมมีสัญลักษณ์ประจำพระองค์ เทียบด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น ปางอภัยมุทรา ปางธรรมจักรมุทรา เป็นต้น ลัทธิมนตรยานถือว่า ผู้ใดยังกายของตนคือมือทั้งสองทำเครื่องหมายเหมือนดังของพระแล้ว ก็เท่ากับว่ายังกายของตนให้สัมปยุตด้วยพระกายของพระ จักมีฤทธิ์อำนาจหนักหนา อาจใช้บังคับบัญชาพระอริยะและเทพดา ยักษ์ มาร นาค คนธรรพ์ต่างๆ ได้ ทั้งนี้เสมือนมุทรานั้นดั่งพระราชลัญจกรของพระราชา เมื่อประทับลงไปในที่ใดที่หนึ่งก็จะทำให้ที่นั้นศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจขึ้นมา
อภิเษก
นิกายนี้ถือหลักการถ่ายมอบคำสอนด้วยวิธีผ่านการอภิเษกจากอาจารย์เป็นสำคัญยิ่ง หากมิได้รับการอภิเษกแล้วจะร่ำเรียนประกอบโยคกรรมอันใด ก็ไม่ได้ผลเต็มสมบูรณ์ การอภิเษกนั้น ก็เท่ากับการครอบวิชาให้นั้นเอง
จุดเด่นเหนือนิกายอื่น
๑. ปฏิบัติตามนิกายอื่น กว่าจะบรรลุอนุตรสัมโพธิต้องกินเวลาช้านาน
๒. ลัทธิคุยหยานเหมาะกับอุปนิสัยของชนทุกชั้น ทุกวัย ทุกนิกาย
๓. ผู้ปฏิบัติตามโยคกรรมของลัทธินี้ เวลาไปอุบัติในพุทธเกษตร
๔. ข้อปฏิบัติก็ง่าย แต่มีผลานิสงส์มาก เช่น สวดธารณีก็สามารถดับอกุศลบาปกรรมในอดีตได้
๕. ลัทธินี้สามารถดับครุกรรมวิบากได้ เช่น สวดอมิตายุธารณีเพียงบทเดียว
๖. ในนิกายสุขาวดี บุคคลผู้ไปเกิดต้องบริบูรณ์ด้วยความศรัทธา ปณิธาน และปฏิบัติ จึงอุบัติได้ แต่ลัทธิคุยหยานถือว่าเพียงแต่อำนาจธารณีอย่างเดียว ก็สามารถช่วยให้คนทำครุอกุศลกรรมกลับไปในสุขาวดีได้ เช่น เสกทรายด้วยธารณี ๑๐๘ คาบ แล้วนำไปเกลี่ยลงบนหลุมศพ ผู้ตายแม้ไม่เคยทำกุศลใดเลย ก็อาจหลุดพ้นไปปฏิสนธิในสุขาวดี
๗. ในสถานที่ใด หากเป็นที่ประดิษฐานธารณี เราเพียงแต่ได้เห็นหรือได้อยู่ หรือเราได้ฟังเสียงคนร่ายธารณี หรือเราได้สังสรรค์กับผู้ร่ายธารณีเป็นนิตย์ มีอานิสงส์เท่ากับเราได้พบเห็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน และดับครุโทษได้ด้วย
๘. นิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ถือว่า การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าต้องอยู่ในปุริสภาวะ เพราะเป็นธรรมฐิติธรรมนิยามอย่างนั้น แต่ในลัทธิมนตรยานว่า ไม่จำป็น แม้อิตถีภาวะก็บรรลุได้
๙. นอกจากจะได้ปรชาติ ประโยชน์ในภพหน้าแล้วในปัจจุบันภพ หากมีทุกข์ภัยอันใด ลัทธิคุยหยานก็มีวิธีโยคกรรม ทำให้สำเร็จสมปรารถนา เช่น ต้องการได้โชคลาภ
๑๐. ปวงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่บรรลุสัมโพธิญาณล้วนต้องปฏิบัติตามธรรมในลัทธินี้ทั้งสิ้น
ปรัชญา
นิกายนี้กล่าวว่า พระไวโรจนะเป็นมูลธาตุของสากลจักรวาลและสิ่งทั้งปวง อรรถกถาแห่งไวโรจนสูตรกล่าวว่า “ลักษณะแท้จริงแห่งรูปกาย และนามกายของปวงสัตว์ แต่เบื้องมีกาลอันไม่ปรากฏ ก็เป็นปรัชญาภาวะอันเสมอแห่งพระองค์ไวโรจนะ”
จตุรมณฑล
เราทราบแล้วว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ มหาภูตทั้ง ๖ มหาภูตทั้ง ๖ นั้น ว่าโดยปรากฎการณ์แล้ว อาจแบ่งได้เป็น ๔ มณฑลด้วยกัน ที่เรียกว่า มณฑลนั้น ก็เนื่องด้วยธรรมเหล่าใดที่มีปัจจัยจากธาตุ ๖ ธรรมเหล่านั้นก็สมบูรณ์ด้วยภาวะ ปรากฎการณ์ทั้ง ๔ อยู่ร่วมกัน ฉะนั้น จึงเรียกว่า “มณฑล”
ทวิมณฑล
พระไวโรจนพุทธทรงสำแดงคุณลักษณะของพระองค์ออกมาด้วยมณฑลทั้ง ๒ คือ วัชรธาตุมณฑล อันปรากฏอาคตสถานจากวัชรเสขรสูตร ๑ กับครรภธาตุมณฑล อันปรากฎอาคตสถานจากมหาไวโรจนสูตร ๑ วัชรธาตุมณฑลแสดงถึงปัญญาคุณของพระตถาคต ซึ่งมีอยู่ในสรรพสัตว์ ส่วนครรภธาตุมณฑลแสดงถึงภาวะอันแท้จริง และคุณลักษณะของพระตถาคต

บรรลุเป็นพุทธะด้วยกายเนื้อ
มนตรยานถือว่า ทุกคนสามารถบรรลุโพธิญาณได้ด้วยรูปกาย และนามกาย (คือ จิต) ในปัจจุบันชาตินี้ ภพนี้ และบัดนี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า มหาภูตของพระไวโรจนพุทธะกับมหาภูตของเรา ต่างก็มีภาวะอันเดียวกัน
จตุรมูลศีล
มูลสิกขาบทอันสำคัญของลัทธิคุยหยานมีอยู่ ๔ ข้อ ผู้ใดละเมิด ถือว่าเป็นครุโทษหนัก เทียบด้วยปราชิกทีเดียว คือ
๑. ไม่ละพระสัทธรรม
๒. ไม่ละโพธิจิต
๓. ไม่มีธรรมมัจฉริยะ
๔. ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์
อัคนิโมหะ
มนตรยานมีพิธีบูชาไฟเช่นเดียวกับพราหมณ์เหมือนกัน และถือว่าเป็นพิธีสำคัญมาก มีการก่อกองกูณฑ์ แล้วเอาสิ่งของบูชาโยนเข้าไปในกองกูณฑ์นั้น ลัทธินี้อธิบายว่า อัคนิโมหะของตนไม่เหมือนกับพราหมณ์ ทั้งนี้เพราะพราหมณ์นั้นบูชาพระอัคนี และถือว่าเทพเจ้าอยู่เบื้องสรวงสวรรค์ มนตรยานถือว่า สิ่งของต่างๆ ที่โยนลงไฟเปรียบด้วยไฟเป็นแสงสว่างแห่งปัญญา เผากิเลส อวิชชา
จตุรอาถรรพณ์
มนตรยานมีการบำเพ็ญอาถรรพณ์ ในทางกฤตยาคุณ ทั้งทางพระเดชและพระคุณอยู่ ๔ ประการ คือ
๑. พิธีอาถรรพณ์ ในทางสร้างความสุขให้เกิดขึ้น
๒. พิธีอาถรรพณ์ ในทางเพิ่มเติมความสุขสมบูรณ์
๓. พิธีอาถรรพณ์ ในทางกำราบศัตรูที่เป็นผู้ขัดขวางพระสัทธรรม
๔. พิธีอาถรรพณ์ ในทางเมตตา
อ้างอิง : เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕, กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.
นาคารชุน

1 ความคิดเห็น:

  1. รูปบนมุมขวามือคือพระโพธิสัตว์กวนอิม ไม่ใช่พระอมิตาภะพุทธเจ้า.

    ตอบลบ

ประวัติความเป็นมา หลักธรรม และคัมภีร์ที่สำคัญ นิกายมหายานมีพระธรรมไม่ครบ ๓ ปิฎก คือ ขาดวินัยปิฎกไป ถึงแม้ฝ่ายมหายานจะกล่าวว่า มีวินัยของพระโพธิสัตว์อยู่ก็ตาม