วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นิกายย่อยพุทธศาสนามหายาน(ต่อจากบทความครั้งที่ผ่านมา)

หลักธรรมนิกายซันเฉีย
นิกายซันเฉียก่อตั้งโดยพระภิกษุซินซิง เป็นนิกายที่เกิดขึ้นตามสภาพสังคมของจีนก่อนสมัยราชวงศ์สุย เป็นความพยายามกอบกู้พุทธศาสนาที่ใกล้ถึงจุดเสื่อม นิกายนี้แบ่งพัฒนาการของพุทธศาสนาเป็น 3 ยุค คือ
1. ระยะเวลาแห่งพระธรรมที่แท้จริง กินเวลา 500 ปี
2. ระยะเวลาแห่งพระธรรมปลอม กินเวลา 1,000 ปี
3. ระยะเวลาแห่งความเสื่อมของพระธรรม กินเวลา 10,000 ปี
ซินซิงกล่าวว่าสมัยของตนเป็นยุคเริ่มของความเสื่อม คำสอนของ 2 ระยะแรกจะใช้ไม่ได้ผลกับยุคนี้ จึงจำเป็นต้องใช้คำสอนใหม่ คำสอนหลักของนิกายนี้คือ ให้ประชาชนชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ เคร่งครัดพระธรรมวินัย โดยไม่ต้องเข้าวัด ไม่ถือว่าพระพุทธรูปกับตำราเป็นสิ่งสำคัญ สรรพสิ่งในโลกเกิดจากแหล่งเดียวกันคือ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในตัวคนทุกคน ดังนั้นทุกชีวิตจึงควรค่าแก่การเคารพ เพราะทุกคนสามารถเป็นพุทธะได้ทั้งสิ้น

หลักธรรมของนิกายหัวเหยียน
หลักคำสอนที่สำคัญถือว่าธรรมมี 2 ส่วนคือ
1. หลักสูงสุดหรือ หลี่ เป็นความจริงของสิ่งทั้งหมด
2. ปรากฏการณ์ หรือ ชิ เป็นรูปแบบที่แสดงออกมา
หลักสูงสุดและปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่กลมกลืนกัน แบ่งแยกไม่ได้ ปรากฏการณ์แต่ละอย่างที่เห็นต่างกันนั้น แท้จริงมีคุณสมบัติของหลักสูงสุดอยู่เสมอ และหลักสูงสุดนี้เป็นเอกภาพของปรากฏการณ์ทั้งหมด

หลักธรรมของนิกายโยคาจาร
นิกายนี้ถือว่าเฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นจริง สิ่งอื่นนอกจากจิตไม่เป็นจริง เป็นแต่มายาของจิต มีอยู่ เป็นอยู่เพราะการคิดของจิต จิตเรียกอีกอย่างว่าอาลยวิญญาณ หรือธาตุรู้ มีหน้าที่ 3 ประการคือ
รู้เก็บ หมายถึงรวบรวมพลังต่างๆของกรรมไว้ในอาลยวิญญาณ สิ่งที่ถูกเก็บไว้เรียกว่าพีชะ ซึ่งมี 3 อย่างคือ กุศลพีชะ อกุศลพีชะ และ อัพยากตพีชะ
รู้ก่อ หมายถึงการสร้างอารมณ์ต่างๆของจิต หรือการกำหนดอารมณ์อื่นๆที่จิตรับรู้
รู้ปรุง หมายถึง การปรุงอารมณ์ที่ก่อขึ้นให้วิจิตรพิสดารไป
อาจแบ่งบุคคลตามพีชะที่ฝังอยู่ในอาลยวิญญาณได้ 5 ระดับ เรียกว่าปัญจโคตร คือ
พุทธพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีสู่พุทธภูมิ
ปัจเจกโพธิพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
สาวกพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีเป็นพระอรหันต์
อนิยตพีชบุคคล ผู้มีคติไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการอบรม
กิจฉันติกพีชบุคคล คือผู้ที่โปรดไม่ได้ในชาตินี้ แต่อาจบรรลุได้ หากปรับปรุงตัวในชาติต่อๆไป

หลักธรรมของนิกายเทนได
หลักอิชิจิสุทำให้นิกายนี้มีลักษณะประนีประนอมต่อนิกายอื่นและต่อศาสนาชินโตด้วย ไซโชได้สร้างวัดเอนเรียวกูจิขึ้นที่ภูเขาไฮอิ เมื่อ พ.ศ. 1341 วัดนี้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นกว่า 800 ปีซึ่งในช่วงดังกล่าว พระสงฆ์นิกายนี้มีบทบาททางการเมืองด้วย

หลักธรรมของนิกายชินงอน
โดยรับคำสอนผ่านทางนิกายเชนเหยนในจีน ได้รวมเอาความเชื่อในศาสนาชินโตเข้าไว้ด้วย

หลักธรรมของนิกายโจโด
นิกายนี้เน้นให้ระลึกถึงอมิดาหรือพระอมิตาภะ เพื่อไปเกิดในเนมบุตซู (พุทธเกษตร) ภายหลังชินราน ลูกศิษย์ของโฮเนนได้ตั้งนิกายโจโด ซินชู (สุขาวดีที่แท้) ซึ่งถือว่าในพุทธเกษตรนั้นไม่มีการแบ่งแยกระหว่างคนดีและคนชั่ว สมาชิกของนิกายนี้ไม่จำเป็นต้องถือวินัยเป็นพิเศษ ชินรานแต่งงานและทำให้เกิดระบบการสืบสกุลของพระในญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังนิกายอื่นด้วย

หลักธรรมของนิกายนิชิเรน
นิกายนิชิเรนส่วนใหญ่จะมีคำสอนคล้ายคลึงกับนิกายเทียนไท้ ที่ยึดสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นพระสูตรหลักเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งคำสอนของพระศากยมุนีเป็น 5 ช่วง หรือลักษณะคำสอน 4 ประการ แต่เทียนไท้จะประนีประนอมมากกว่า เช่น นิกายนิชเรนโชชู จะรับคำสอนของนิกายเทียนไทเในเรื่อง หนึ่งขณะจิตสามพัน (Ichinen Sanzen) และ ความจริงสามประการ (Santai)
พระนิชิเรน ได้เขียนจดหมายถึงศิษย์ และคำสอนต่างๆไว้ ซึ่งถูกรวบรวมไว้เป็นบทธรรมนิพนธ์ ซึ่งยังมีบอกถึงวิถีการปฏิบัติของผู้นับถือ และมุมมองในคำสอนของตัวพระนิชเรนเองลงในจดหมายเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งใช้สำหรับการศึกษาธรรมของผู้นับถือ ซึ่งเรียกว่า โกโช่ หรือ บางนิกายเรียกว่า โก-อิบุน ซึ่งมีมากกว่า 700 ฉบับ ซึ่งบางฉบับนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน แต่บางฉบับก็เป็นเพียงเศษกระดาษ ซึ่งได้ถูกส่งต่อมานับศตวรรษ โดยการรวบรวม และการคัดลอก และยังมีหลายฉบับที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งส่วนมากตัวต้นฉบับนั้นจะถูกรวมรวมไว้ที่วัดไทเซขิจิ ซึ่งเป็นศุนย์กลางของ นิกาย นิชิเรนโชชู บางฉบับมีเป็นภาษาอังกฤษซึ่งถูกแปลโดยชาวต่างชาติ หรือชาวเอเชียที่รู้ภาษาญี่ปุ่น

หลักธรรมของนิกายเคงอน
เป็นคำสอนมาจากของนิกายซานรอนและนิกายฮอสโส มีหลักคำสอนใกล้เคียงกับนิกายหัวเหยียนในจีน

หลักธรรมของนิกายสรวาสติวาท
หลักธรรมโดยทั่วไปใกล้เคียงกับเถรวาท แต่ต่างกันที่ว่านิกายนี้ถือว่า ขันธ์ห้าเป็นของมีอยู่จริง พระอรหันต์เสื่อมได้ สิ่งทั้งหลายมีอยู่และเป็นอยู่ในลักษณะสืบต่อ คัมภีร์ของนิกายนี้มีผู้แปลเป็นภาษาจีนและภาษาทิเบตไว้มาก พระภิกษุในทิเบตปัจจุบันถือวินัยของนิกายนี้
หลักธรรมของนิกายเสาตรันติกวาท
นิกายนี้แพร่หลายอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ไม่มีคัมภีร์ของนิกายนี้เหลืออยู่ คงมีแต่ที่กล่าวพาดพิงถึงในคัมภีร์ของนิกายสรวาสติวาทเท่านั้น นิกายนี้ถือว่าเฉพาะวิญญาณขันธ์ในขันธ์ห้าเท่านั้นที่ไปเกิดใหม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับนิกายสมิติยวาท เชื่อว่าทุกคนมีธาตุแห่งพุทธะอยู่ในตัวเช่นเดียวกับความเชื่อของฝ่ายมหายาน นิกายนี้เมื่อแพร่หลายไปที่ญี่ปุ่นเรียกว่านิกายโจจิตสุ

หลักธรรมของนิกายนิงมะ
นิกายนิงมะแบ่งคำสอนในพุทธศาสนาออกเป็น 9 ยาน คือ
สามยานนี้เป็นคำสอนในพระสูตร
1) สาวกยาน
2) ปัจเจกพุทธยาน
3) โพธิสัตวยาน
ตันตระสาม คือ
1) กริยาตันตระ
2) อุปตันตระ
3) โยคะตันตระ
ตันตระขั้นสูงอีกสามยาน คือ
1) มหาโยคะ
2) อนุตรโยคะ
3) อติโยคะ
ทุกระดับยกเว้น อธิโยคะ คุหยสมาช กาลจักร จักรสังวร ล้วนจัดอยู่ในอนุตรโยคะทั้งสิ้น ส่วนอธิโยคะหรือซกเชนถือเป็นตันตระพิเศษสูงสุดกว่าตันตระใดๆ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์เป็นวิธีการเจาะเข้าสู่พุทธภาวะโดยตรง
จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติยานทั้งเก้าคือเพื่อก้าวพ้นโลกียะตามคำสอนของพระสมันตภัทรพุทธะ ในคำสอนของตันตระที่เป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้คือ ซอกเซ็น หรือมหาบารมี เป็นการปฏิบัติโดยสวดพระนามของปัทมสัมภวะ หรือคุรุรินโปเช และการเข้าเงียบ จะเน้นในการสวดมนต์ต์ตราธารณี การใช้สัญลักษณ์มุทรา สัญลักษณ์มณฑล ในการประกอบพิธีเพื่อเข้าสู่การบรรลุพระโพธิญาณ นิกายนี้มีความเชื่อว่าหลังจากสมัยคุรุปัทมสมภพแล้วก็ได้มีการค้นพบคำสอนซึ่งถูกซ่อนไว้โดยคุรุปัทมสมภพ ในทิเบตเรียกว่า "เทอร์มา" ซึ่งแปลว่าขุมทรัพย์อันล้ำค่า และได้ทำนายไว้ว่าในอนาคต ศิษย์ของท่านจะเป็นผู้ค้นพบและเปิดขุมทรัพย์
คำสอน 6 ยานแรกเป็นพื้นฐานของพุทธตันตระทั่วไป ส่วนสามยานสุดท้ายเป็นลักษณะพิเศษของนิกายนิงมะเชอเกียมตรุงปะ อาจารย์นิกายนิงมะ ผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 20 ได้กล่าวว่า
เถรวาทได้กล่าวว่า ตนเข้าถึงความจริงแท้ และให้หนทางที่ดีที่สุด มหายานกล่าวว่าพระโพธิสัตว์ได้ให้หนทางที่ดีที่สุดในการเข้าสู่สัจจะธรรม ส่วนผู้ปฏิบัติวัชรยานกล่าวว่า มหาสิทธะผู้ทรง ฤทธิ์อำนาจวิเศษสามารถมอบหนทางสู่การบรรลุได้อย่างวิเศษสุดคำถามและคำตอบมากมายที่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความสับสนต่างๆ นาๆ แล้วอะไรเล่าจึงเป็นสิ่งที่ปรารถนาของศิษย์ ผู้ต้องการเข้าสู่พระพุทธธรรม อธิโยคะตันตระได้ให้คำตอบไว้ว่าการมองทุกสรรพสิ่งด้วยสาย ตาของเอกซ์เรย์ มองทุกสรรพสิ่งได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และปฏิบัติตนอย่างเปล่าเปลือยทะลุ ปรุโปร่งเช่นกัน นั่นจึงเป็นธรรมชาติแท้แห่งพุทธภาวะ

หลักธรรมของนิกายกาจู
นิกายกาจูมีหลักปฏิบัติเฉพาะนิกายคือ โยคะทั้ง 6 ของนโรปะ จักรสัมภวะ มหากาล มหามุทรา ความแตกต่างของแต่ละนิกายย่อยอยู่ที่วิธีการสอนของอาจารย์ การศึกษาของพระสงฆ์ในนิกายนี้ เน้นเรื่องปัญญาบารมี มาธยมิก การรับรู้ที่ถูกต้อง พระวินัย และปรากฏการณ์วิทยา

หลักธรรมของนิกายสักยะ
นิกายสักยะมีการแบ่งเป็นนิกายย่อยหลายนิกายเช่นเดียวกับนิกายอื่นๆ คำสอนที่ถือเป็นแก่นของนิกายคือ ลัมเดร มรรควิถีและผล ปรัชญาทางมรรควิถีของนิกายนี้ถือว่าไม่สามารถแยกสังสารวัฏและพระนิพพานออกจากกันได้ เพราะจิตมีรากฐานอยู่ทั้ง 2 อย่าง ดังนั้น ผู้ฝึกฝนจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ทั้ง 2 สภาวะ การปฏิบัติที่เป็นหลักของนิกายนี้คือ เหวัชระ จักรสัมภวะ ตันตระและมารกกาล

หลักธรรมของนิกายเกลุก
นิกายเกลุก เน้นความเคร่งครัดในวินัยเป็นพื้นฐาน ลามะของนิกายนี้ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ เน้นการสอนทั้งทางพระสูตรที่เป็นวิชาการ และทางตันตระที่เน้นการปฏิบัติ และการวิเคราะห์ธรรมโดยตรรกวิภาษ หัวข้อใหญ่ที่ศึกษาคือ ปัญญาบารมี ปรัชญามาธยมิกะ การรับรู้ที่ถูกต้อง ปรากฏการณ์วิทยา และพระวินัย

หลักธรรมของนิกายไอศวาริก
นิกายไอศวาริก ซึ่งเชื่อว่าอาทิพุทธะเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่าง ไม่อาจบอกเบื้องต้น และจุดสิ้นสุดของพระองค์ได้ ประทับอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 13 เรียกอกนิษฐภูวนะ หรือ อกนิษฐพรหม อาทิพุทธะมีพระนามต่างๆมากมาย ขึ้นกับแต่ละนิกาย นิกายไอศวาริกเรียกว่าอิศวร นิกายสวาภาวิกเรียกว่า สวาภาวะ ในเนปาลและทิเบต บางครั้งเรียกพระองค์ว่า "โยคัมพร" สร้างรูปเป็นปางบำเพ็ญทุกรกิริยา มีศักติคือ ฌาเนศวร
ในญี่ปุ่นและจีน ไม่นิยมนับถืออาทิพุทธะ แต่นับถือพระธยานิพุทธะ 2 องค์คือพระอมิตาภะพุทธะกับพระไวโรจนะพุทธะว่าเป็นพระพุทธเจ้าสูงสุด และไม่ถือว่าพระพุทธเจ้าเหล่านี้มีศักติเช่นในเนปาลหรือทิเบต

หลักธรรมของนิกายวัชรยาน หรือ มหายานพิเศษ
นิกายวัชรยาน หรือ มหายานพิเศษนี้ เป็นพุทธศาสนามหายานนิกายหนึ่งในแบบลัทธิตันตระ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในประเทศอินเดีย (ในรัฐชัมมู, รัฐกัษมีร์, รัฐสิกขิม), เนปาล, ภูฏาน, ทิเบต, ปากีสถาน และ มองโกเลีย ถือหลักธรรมแบบลัทธิตันตระ


บทสรุป
หลักธรรมอันใดที่ลัทธิศาสนาปรัชญาอื่นๆ ที่อ้างว่าสำคัญและดีที่สุด ก็ปรากฏว่ามีอยู่ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เช่น ผู้ที่พอใจในการสวดอ้อนวอน พอใจที่จะไปเกิดในสถานสุขารมณ์ แลเป็นผู้มีศรัทธาจริต ยังเป็นผู้อ่อนต่อการฟังเรื่องปรัชญาสูงๆ ก็อาจมานับถือนิกายสุขาวดีได้ ผู้ที่ชอบใจในเรื่องคาถาอาคมวิชาไสยศาสตร์ต่างๆ ก็อาจมานับถือนิกายมนตรยานได้ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ต้องการหลักธรรมบริสุทธิ์อย่างดั้งเดิมของพระพุทธองค์ ก็ศึกษานับถือนิกายเถรวาท หมายความว่า พระพุทธศาสนามีทุกสิ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของมนุษย์ ลัทธิศาสนาอื่นมักไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งเสมอ ส่วนพระพุทธศาสนานั้นครอบเอาศาสนาปรัชญาอื่นๆ ไว้หมด นับเป็นศาสนาสากลได้อย่างแท้จริง ฉะนี้ นี่กล่าวโดย พระพุทธศาสนาซึ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงจนเกิดมีมหายาน สาวกยานแล้ว แต่ตัวความจริงของพระพุทธศาสนานั้นมิได้เป็นอะไรทั้งนั้น นอกจากเป็น “สัจธรรม”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนามหายาน พระจิตติเทพ ฌานวโร
เรียบเรียงจัดทำรายงาน หลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต ปี ๓
อ้างอิง:
เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๕,กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม.สุขภาพใจ ๒๕๔๕.
ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. ๒๕๔๘.
อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
๒๕๓๙.
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. พระพุทธศาสนาแบบทิเบต. กทม. ศูนย์ไทยทิเบต. ๒๕๓๘.

วัดวิโรจนาราม,นาคารชุน